อุตสาหกรรมดนตรีในยุคปัจจุบันมีช่องทางการเข้าถึงผู้ฟังที่หลากหลายขึ้นมาก เนื่องมาจากวิวัฒนาการของเทคโนโลยีในยุคใหม่ ส่งผลให้ผู้ฟังไม่จำเป็นต้องฟังเพลงผ่านทางสถานีวิทยุและไม่ต้องชมมิวสิควิดีโอจากสถานีโทรทัศน์อีกต่อไปแล้ว ยิ่งเมื่อโลกมีเทคโนโลยีในการสื่อสารใหม่อย่างสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ทำให้ศิลปินมีข้อมูลเพิ่มมากขึ้นว่าจะควรจะทำอย่างไร เพื่อให้ผลงานเพลงที่พวกเขาทำไปถึงคนฟังเพลงได้อย่างกว้างขวางมากที่สุด
ข้อดีของการมีอินเทอร์เน็ตก่อให้เกิดช่องทางการฟังเพลงที่ผู้ฟังสามารถเลือกฟังได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น YouTube, Spotify, Apple Music รวมไปถึงช่องทางสตรีมมิ่งอื่น ๆ โดยช่องทางที่กล่าวมานั้น ศิลปินสามารถเผยแพร่เพลงของตนได้โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง ด้วยความสะดวกต่อการเข้าถึง รายรับที่ศิลปินได้รับไปเต็ม ๆ ไม่ต้องแบ่งให้ใคร ส่งผลให้ศิลปินส่วนหนึ่งมองเห็นวิธีการที่จะบริหารจัดการผลงานของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสังกัดหรือค่ายเพลงในการทำเรื่องเหล่านี้
ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ในยุคสมัยนี้ จะมีศิลปินที่ผันตัวมาเป็น ‘ศิลปินอิสระ’ กันมากมาย และต่างก็พยายามที่จะสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จัก พร้อมนำเสนอผลงานไปสู่ผู้ฟังด้วยตัวเอง
‘ศิลปินอิสระ’ เส้นทางใหม่ของคนมีฝัน
การที่นักดนตรี นักร้อง นักแต่งเพลงจำนวนมาก ตั้งเป้าอยากจะเป็น ‘ศิลปินอิสระ’ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ ‘อิสระ’ ในที่นี้ หมายถึงอิสระในการทำงานและการสร้างสรรค์ผลงาน กล่าวคือหากคุณเป็นศิลปินอิสระ คุณสามารถควบคุมทิศทางของผลงานของคุณเองได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมการจัดจำหน่าย การตลาด กำหนดเวลา และเรื่องอื่น ๆ ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังมีอิสระในการตัดสินใจเกี่ยวกับวิสัยทัศน์และความเป็นตัวตนของพวกเขาเอง
ในกรณีของการเป็นศิลปินที่มีสังกัดหรือค่าย บางเรื่องที่กล่าวไปข้างต้นเป็นสิ่งที่ทางค่ายหรือต้นสังกัดอาจจะเป็นผู้กำหนด หรือขอมีส่วนร่วมในการกำหนด จนอาจทำให้ศิลปินบางคนรู้สึกว่าพวกเขาจะไม่เป็นตัวของตัวเองหากทำงานในรูปแบบดังกล่าว แม้ว่าการมีสังกัดจะมีข้อดีคือศิลปินไม่จำเป็นต้องทำบางเรื่องด้วยตัวเอง อย่างเช่นการจัดจำหน่าย การตลาด โดยยกให้เป็นหน้าที่ของค่ายหรือต้นสังกัด เพื่อที่ตัวเองจะได้มุ่งความสนใจไปที่การสร้างสรรค์ผลงานเป็นหลัก
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การเป็นศิลปินอิสระ ทำให้ตัวศิลปินมีความเป็นเจ้าของบทเพลง เต็ม 100% กล่าวคือศิลปินเป็นเจ้าของสิทธิ์หลักในผลงานเพลงของพวกเขา มีอิสระในการเจรจาทำข้อตกลง หรือการอนุญาตให้ใช้สิทธิในเพลงและการเผยแพร่ต่าง ๆ รวมไปถึงการได้รับรายได้ทั้งหมดตามข้อตกลงที่เกิดจากการเข้าฟังเพลงบนสตรีมมิ่ง นอกจากนี้ยังได้รับผลประโยชน์จากการนำบทเพลงไปใช้งาน การผลิตสินค้า และรายได้จากช่องทางอื่น ๆ โดยไม่ต้องแบ่งให้กับค่ายหรือต้นสังกัด
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อดีหลายอย่าง จนไม่แปลกใจเลยที่ศิลปินส่วนมากจะผันตัวมาเป็นศิลปินอิสระกัน แต่การเป็นศิลปินอิสระก็ไม่สามารถการันตีการประสบความสำเร็จและความมั่นคงในอาชีพเมื่อเทียบกับศิลปินที่อยู่ภายใต้สังกัด เพราะการเป็นศิลปินอิสระต้องเรียนรู้เรื่องการจัดการในด้านต่าง ๆ ด้วยตัวเอง และยังต้องแข่งขันกับศิลปินรายอื่น ๆ ที่มีอีกมากมายในท้องตลาด
อยากเป็น ‘ศิลปินอิสระ’ ต้องทำอะไรบ้าง ?
แล้วถ้าใครสักคนอยากจะเป็นศิลปินอิสระ อะไรคือสิ่งที่ควรทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ?
สิ่งแรกที่คงขาดไม่ได้เลยคือการมีความรู้เรื่องดนตรี ส่วนสิ่งที่เพิ่มมาก็คือการมีคอมพิวเตอร์สักเครื่อง มีลำโพง มีหูฟัง เท่านี้ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ทันที เพราะโปรแกรมทำเพลงในสมัยนี้ได้รับการพัฒนาให้ช่วยแบ่งเบาภาระของศิลปินได้เป็นอย่างมาก สามารถสร้างเสียงจำลองของเครื่องดนตรีหลากหลายชนิดได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องไปต่อกับเครื่องเล่นจริงให้ยุ่งยาก และยังมีตัวช่วยในการมิกซ์เพลงให้เพลงมีมิติ โดยที่เราสามารถทำทุกอย่างให้จบภายในคอมพิวเตอร์ได้เลย
สิ่งต่อมาที่ต้องมีคือความคิดสร้างสรรค์สำหรับการทำเพลง ให้ผลงานมีอะไรที่น่าตื่นเต้นอยู่เสมอ รวมถึงสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกจากผู้แต่งส่งถึงผู้ฟังได้ดี ไม่ว่าจะเป็นทำนอง เนื้อเพลง ที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกคล้อยตามและเป็นหนึ่งเดียวกับเพลงได้
นอกจากเรื่องทักษะด้านการสร้างสรรค์งานเพลงแล้ว คนที่คิดจะเป็นศิลปินอิสระควรมีความรู้ความเข้าใจในการใช้แพลทฟอร์มออนไลน์ เช่น YouTube, Facebook, X เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเผยแพร่ผลงานให้เป็นที่รู้จักต่อสาธารณะ และควรมีการวางแผนสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมการขายผลงานเพลง ไม่ว่าจะเป็นการทำวิดีโอ ทีเซอร์ รูปภาพ หรือคลิปต่าง ๆ เพื่อสร้างจุดขายที่ชวนให้ผู้ฟังอยากติดตามผลงาน
อีกเรื่องหนึ่งที่ควรทำคือการพาตัวเองไปเข้าร่วมงานหรือกิจกรรมดนตรีต่าง ๆ เพื่อพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนคติ กับศิลปินอื่น ๆ และผู้คนที่เกี่ยวข้องในแวดวง เป็นการสร้างสังคมนักดนตรีที่จะสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ในอนาคต
และสุดท้ายที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือควรมีเงินทุนสำรองในการใช้จ่ายสำหรับการผลิตผลงาน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การสร้างสรรค์ผลงานเพลงเป็นไปได้อย่างราบรื่น และสำเร็จตรงตามเป้าหมายที่วางไว้
ศิลปินอิสระในแบบ ‘ดารารัญชน์’
‘ดารารัญชน์’ เป็นศิลปินแนวโฟล์คซอง เจ้าของบทเพลง ‘นอนก่อน’ และ ‘ฤดูที่เธอชอบ’ มีสมาชิกคือ ชิค – ปุณญา เทศดรุณ และ อ๊อฟ – พงศธร ยะวงค์ ทั้งคู่เป็นเพื่อนกันที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มี ‘เขียนไขและวานิช’ กับ ‘ดวงดาว เดียวดาย’ เป็นศิลปินต้นแบบในการสร้างสรรค์ผลงาน รวมไปถึงการใช้ชีวิต และการได้ฟังเพลงโฟล์คซองจากศิลปินที่ทั้งคู่ชื่นชอบเหมือน ๆ กัน ทำให้พวกเขาเกิดความคิดว่าอยากจะมีผลงานเพลงเป็นของตัวเองบ้าง
ชิคกับอ๊อฟบอกว่าทั้งคู่ชอบเพลงโฟล์คซอง เพราะเป็นเพลงที่ชิลล์ ฟังสบาย การเดินคอร์ดเพลงก็ง่าย เมื่อชอบแล้วก็มีความใฝ่ฝันอยากจะทำเพลงแนวนี้บ้าง จึงได้เริ่มต้นทำวงด้วยกัน ถึงแม้จะมีแค่อ๊อฟที่เล่นกีตาร์เป็น แต่อ๊อฟก็ได้สอนชิคให้เล่นกีตาร์ และช่วยกันผลิตผลงานเพลงก่อนนำมาเผยแพร่ผ่าน YouTube ในช่องดารารัญชน์นั่นเอง
วงดารารัญชน์ได้มีโอกาสได้นั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับวงเขียนไขและวานิช ในเรื่องของการทำงานในฐานะศิลปินอิสระ โดยวงเขียนไขและวานิชได้แนะนำว่า ในการทำงานของวง พวกเขาต้องการความเป็นอิสระ สร้างผลงานตามความรู้สึก ไม่ต้องไปรีบร้อนอะไร ค่อย ๆ พัฒนาผลงานเพลงออกมา และแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของวง “เราก็เลยตกตะกอนทางความคิด ได้แนวทางการทำงานของวงออกมา ก็คือการมีอิสระ เป็นแบบที่ตนเองต้องการเป็น ไม่ฝืน ไม่ต้องเหมือนใคร”
ในมุมมองของวงดารารัญชน์ สมาชิกทั้งสอคนเห็นว่าการเป็นศิลปินอิสระมีทั้งข้อดีและข้อเสีย “การที่เราไม่มีสังกัด ไม่มีคนคอยผลักดัน ทำให้รายได้ของเราไม่คงที่ นอกจากนี้วงเรายังมีต้นทุนสำหรับการทำงานเพลงที่น้อย ห้องอัดก็ต้องเช่า คนมิกซ์และมาสเตอร์เพลงก็ต้องจ้าง เครื่องดนตรีก็มีไม่เยอะ เราสองคนเลยต้องทำงานอย่างอื่นด้ววยเพื่อหาเงินนำมาใช้จ่ายสำหรับการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งบางครั้งก็รู้สึกท้อนะ เราก็เลยมองการทำเพลงเป็นให้งานอดิเรกมากกว่า จะได้คลายความกังวลลงไปบ้าง”
พวกเขายังมองด้วยว่า การที่ในปัจจุบันมีศิลปินผันตัวเป็นศิลปินอิสระมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าศิลปินอิสระมีโอกาสที่ประสบความสำเร็จได้ แต่ตัวศิลปินก็ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอด้วย
“การมีสังกัดเนี่ย เราอาจจะมั่นคงก็จริง แต่บางครั้งเราก็ต้องสูญเสียความเป็นตัวเอง อาจทำให้เราผลิตผลงานได้ไม่ดี จากความกดดันและการตีกรอบจากต้นสังกัด หรืออาจจะถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่เมื่อเลือกที่จะเป็นศิลปินอิสระ แสดงว่าเราต้องพร้อมพัฒนาตนเองอยู่ตลอด เพราะไม่มีคนคอยผลักดัน ทำให้เราต้องกระตุ้นตัวเองและตื่นตัวตลอด ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ดีนะ เพราะถ้าเราไม่คอยกระตุ้นตัวเอง เราก็จะไม่พัฒนา จะยืนอยู่กับที่ สุดท้ายเราก็จะอยู่ไม่ได้ แข่งกับใครก็ไม่ได้”
อนาคตอุตสาหกรรมดนตรีไทย
“เราคิดว่าอนาคตของอุตสาหกรรมเพลงในบ้านเราจะเติบโตมากขึ้น เพราะค่านิยมเรื่องการทำเพลงแล้วสามารถสร้างรายได้ มันถูกปลูกฝังไปแล้ว”
ชิดและอ๊อฟกล่าวต่อว่า ในปัจจุบัน วัยรุ่นเริ่มทำงานหาเงินเร็วขึ้น เพราะเป็นวัยที่ใช้เงินเก่ง จึงอยากแบ่งเบาภาระพ่อแม่ อีกทั้งหลายคนยังมองว่าการทำเพลงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเอง บวกกับการเห็นตัวอย่างจากศิลปินอิสระในแนวแร็ปที่เป็นวัยรุ่น อย่าง 1MILL, Diamond หรือ SARAN ทำเพลงออกมาเผยแพร่แล้วประสบความสำเร็จ จึงกลายเป็นค่านิยมว่าหากทำเพลงออกมาแล้วได้รับการตอบรับที่ดีก็จะมีรายได้ตามมา
ทั้งคู่ยอมรับว่าสิ่งสำคัญที่จะช่วยกระจายผลงานของศิลปินอิสระให้เป็นที่รู้จักต่อสาธารณะ ก็คืออินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีการสื่อสารต่าง ๆ “เราต้องรู้เท่าทันและปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีอยู่เสมอ เพราะเทคโนโลยีคือตัวกลางที่ดีเลยที่จะช่วยให้เราขายผลงานได้และสร้างชื่อเสียงให้กับเรา ที่เรายังทำวงดนตรีอยู่ได้ก็เพราะว่ามีเทคโนโลยีเนี่ยแหละ ถึงแม้ว่าเราอาจจะยังไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย แต่ก็ได้ทยอยนำเสนอผลงานของเราให้คนอื่นได้รู้จักทีละน้อย ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย”
ชิคกับอ็อฟกล่าวว่า สำหรับคนที่อยากจะเดินในเส้นทางศิลปินอิสระ ถ้าหากมีความขยัน อดทน มีอุดมการณ์ที่ชัดเจน และพร้อมเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอในการผลิตผลงานเพลง ก็มีโอกาสที่จะมีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จได้ “แต่ว่าก็ควรจะต้องมีแผนสำรองไว้ด้วย แผนสำรองในที่นี้คือ ถ้าเราทำงานออกมาแล้วแต่ผลตอบรับยังไม่ดี เราก็อาจจะพักไปทำอย่างอื่นก่อน รอจังหวะดี ๆ แล้วค่อยกลับมาทำใหม่ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี”
การมีศิลปินทั้งที่มีสังกัดและศิลปินอิสระจำนวนมากในวงการเพลง แน่นอนว่าเป็นเรื่องดีที่ผู้ฟังจะมีทางเลือกที่หลากหลาย ไม่ว่าจะศิลปินหรือแนวดนตรี แต่นั่นย่อมหมายถึงการแข่งขันที่เข้มข้นในตลาด และมีโอกาสที่ผลงานเพลงอาจจะถูกลืมได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีศิลปินหน้าใหม่ ๆ และบทเพลงใหม่ ๆ ออกมาได้ฟังกันอย่างต่อเนื่อง
แต่สำหรับวงดารารัญชน์ เรื่องดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่พวกเขารู้สึกกังวล “เราไม่กังวลหรอกว่าเพลงของเราจะถูกลืม แน่นอนว่าวงการเพลงก็จะมีเพลงใหม่ ๆ ออกมาเรื่อย ๆ ใครชอบอันไหนก็ไปฟังอันนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีนะที่ในวงการจะมีศิลปินหลากหลายแนว เพราะมันช่วยผลักดันอุตสาหกรรมเพลงให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง ส่วนใครที่ชอบเพลงโฟล์คซอง อยากฟังเพลงแนวนี้ ยังไงเขาก็คงจะแวะกลับมาฟังเพลงของเราบ้างแหละ”
ข้อมูลอ้างอิง
เรื่อง : พชร กันธะวัง
ภาพ : Facebook Page : Dararunch
บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การแต่งกายถูกแบ่งแยกเพศด้วยรูปแบบของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมาอย่างยาวนาน แต่ในปัจจุบัน เมื่อโลกของเราเปิดกว้างมากขึ้น ผู้คนได้ทำลายกรอบของสังคมที่เคยถูกปิดกั้น แล้วก้าวออกมาใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง จึงทำให้เกิดการยอมรับความคิดใหม่ ๆ
‘สุนัข’ เป็นหนึ่งในสัตว์ที่ถูกทิ้งเป็นจำนวนมากในประเทศไทย จากปี 2559 ที่ข้อมูลระบุว่ามีสุนัขจรจัดจำนวน 758,446 ตัว แต่เมื่อถึงปี 2562 จำนวนสุนัขจรจัดเพิ่มขึ้นเป็น 2.493 ล้านตัว
อุตสาหกรรมดนตรีในยุคปัจจุบันมีช่องทางการเข้าถึงผู้ฟังที่หลากหลายขึ้นมาก เนื่องมาจากวิวัฒนาการของเทคโนโลยีในยุคใหม่ ส่งผลให้ผู้ฟังไม่จำเป็นต้องฟังเพลงผ่านทางสถานีวิทยุและไม่ต้องชมมิวสิควิดีโอจากสถานีโทรทัศน์อีกต่อไปแล้ว ยิ่งเมื่อโลกมีเทคโนโลยีในการสื่อสารใหม่อย่างสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ทำให้ศิลปินมีข้อมูลเพิ่มมากขึ้นว่าจะควรจะทำอย่างไร เพื่อให้ผลงานเพลงที่พวกเขาทำไปถึงคนฟังเพลงได้อย่างกว้างขวางมากที่สุด