ย้อนกลับไปในอดีต มนุษย์ยุคแรกไม่ได้แบ่งเครื่องแต่งกายออกตามเพศสภาพ ใช้เพียงหนังสัตว์ ฟาง หรือใบไม้ มาทำเป็นลักษณะคล้ายกระโปรง เพื่อเพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกายและป้องกันสัตว์ต่าง ๆ เท่านั้น ต่อมาเมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักการทอผ้า เสื้อผ้าจึงถูกปรับเปลี่ยนให้มีอารยะมากขึ้น แต่ก็ยังคงอยู่ในรูปทรงกระโปรงแบบเดิม เช่นเดียวกับวัฒนธรรมกรีก โรมัน ที่ผู้ชายยังคงใส่กระโปรง โดยจะใส่เป็นผ้าคลุมหลวม ๆ ยาวตลอดตัว ไม่ได้แบ่งข้างเป็นขาซ้ายขาขวา ง่ายต่อการตัดเย็บและสะดวกสบายในการใช้ชีวิต
จนกระทั่งกางเกงถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับวัฒนธรรมการขี่ม้า เพื่อป้องกันการเสียดสีระหว่างขาหนีบกับอานม้าและความคล่องตัวขณะขึ้นลง และทำให้การใส่กางเกงมีอิทธิพลต่อการแต่งกายของเพศชายในรูปแบบของทหารหรือนักรบนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
การแต่งกายถูกแบ่งแยกเพศด้วยรูปแบบของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมาอย่างยาวนาน แต่ในปัจจุบัน เมื่อโลกของเราเปิดกว้างมากขึ้น ผู้คนได้ทำลายกรอบของสังคมที่เคยถูกปิดกั้น แล้วก้าวออกมาใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง จึงทำให้เกิดการยอมรับความคิดใหม่ ๆ
และหนึ่งในความคิดใหม่ ๆ นั้นก็คือ ‘ความเท่าเทียมในด้านแฟชั่น’
จุดกำเนิด Androgynous Fashion
“เสื้อผ้าไม่มีเพศ เเต่เราไปตีกรอบกันเองว่าเพศไหนต้องใส่อะไร”
เขื่อน – ภัทรดนัย : ศิลปิน
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ได้เริ่มเกิดแฟชั่นที่เรียกว่า Androgynous ซึ่งในความหมายทางชีววิทยาคือ คนที่ร่างกายมีส่วนผสมทั้ง Masculine (ความเป็นชาย) และ Feminine (ความเป็นหญิง) ในคนคนเดียว หากแปลตามสายแฟชั่น หมายถึง คนที่มีสไตล์การแต่งตัวยากที่จะแยกแยะได้ว่าเป็น Masculine หรือ Feminine ซึ่งสไตล์การแต่งตัวแนวนี้กำลังมาแรงมากในปัจจุบัน ทำลายภาพจำเดิม ๆ ว่าผู้หญิงต้องใส่กระโปรง ผู้ชายต้องใส่กางเกง ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือ Gender ไหน เพียงแค่มีใจรักก็สามารถแต่งได้ทั้งนั้น
สมัยก่อนผู้หญิงต้องใส่คอร์เซ็ต ผ้าลูกไม้ และกระโปรงพะรุงพะรัง จนมีคนตั้งคำถามถึงการใส่เสื้อผ้าของผู้หญิงว่าทำถึงต้องใส่แบบนี้ ทำไมถึงใส่เสื้อผ้าแบบผู้ชายไม่ได้ คน ๆ นั้นก็คือ Coco Chanel เธอจึงได้ตัดเย็บกางเกงสำหรับผู้หญิงขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1913 ให้ผู้หญิงได้ก้าวออกจากกระโปรงยาวแบบยุควิคตอเรียน (ปลายศตวรรษที่ 19) แล้วสามารถก้าวเดินหรือทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างกระฉับกระเฉง เหมือนเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าแรกว่าการแต่งตัวแบบผู้ชาย ผู้หญิงก็สามารถแต่งได้เหมือนกัน
ในเวลาต่อมา คนที่มารับไม้ต่อก็คือ Yves Saint Laurent ที่ให้กำเนิดชุดทักซิโด้สำหรับผู้หญิงที่มีส่วนเว้าโค้งเข้ากับรูปร่างของผู้หญิงเป็นครั้งแรกในปี 1966 กล่าวได้ว่า Chanel เป็นเหมือนคลื่นลูกแรกที่เปิดประตู ส่วน YSL เปรียบเสมือนคลื่นลูกสองที่มาเสริมพลังให้กับวงการแฟชั่น ในการก้าวออกจากภาพจำเดิม ๆ ของการแต่งกายตามเพศ
ขณะเดียวกันเพศชายก็เริ่มสนใจแฟชั่น Androgynous เช่นกัน โดยเรียกว่า ‘The Peacock Revolution’ ซึ่งมีที่มาจากธรรมชาติของนกยูงที่เพศผู้จะมีสีที่สวยและสดกว่าเพศหญิง ในตอนนั้นจึงเป็นยุคที่ผู้ชายแต่งตัวสีสันจัดจ้านด้วยเนื้อผ้าและลวดลายใหม่ ๆ แต่ก็ยังคงอยู่ในรูปแบบชุดสูทที่ผู้ชายนิยมใส่ ซึ่งคนที่มีบทบาทเด่น ๆ ในเรื่องนี้ก็คือ Jimi Hendrix ศิลปินที่ทรงอิทธิพลต่อวงการดนตรี กับการแต่งกายด้วยสีสันลวดลายจัดจ้านขึ้นแสดงโชว์ นับได้ว่าเป็นนิยามใหม่ของความเท่ และยังเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งตัวให้ผู้ชายหลาย ๆ คน ในยุคนั้น
Androgynous Fashion อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด
การแต่งตัวแบบ Androgynous Fashion จริง ๆ แล้วไม่จำเป็นต้องจัดจ้านฉูดฉาดหรือแฟชั่นมากมายก็ได้ เพราะว่า Androgynous Fashion นั้นแทรกซึมอยู่กับการใช้ชีวิตทั่วไปของคนเราอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่สังเกตและคิดไม่ถึง อาจเป็นเพราะศาสนา วัฒนธรรม หรือประเพณีในสังคมของกลุ่มชน ที่หล่อหลอมให้มีการแต่งกายแบบ Androgynous Fashion โดยไม่รู้ตัว
ยกตัวอย่างเช่น ชายชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศหรือชาวมุสลิมที่ใส่ ‘โสร่ง’ หรือผ้านุ่งในชีวิตประจำวัน ที่ฝรั่งมองแล้วอาจเทียบเคียงได้กับกระโปรง หรือการที่หนุ่ม ๆ ชาวสกอตยังนุ่ง ‘คิลต์’ (Kilt) เครื่องแต่งกายท่อนล่างอัดจีบลายตารางสำหรับผู้ชาย ซึ่งถือเป็นตัวแทนทางวัฒนธรรมและสัญลักษณ์ประจำชาติของสกอตแลนด์
นอกจากนี้ในโรงเรียนบางแห่งเองก็เปิดให้นักเรียนมีอิสระในการแต่งตัว โดยที่ไม่ได้กำหนดเครื่องแบบนักเรียนตามเพศ หลายประเทศหรือเขตปกครองต่างเริ่มที่จะเปิดกว้างในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักร ที่ยังคงให้นักเรียนสวมชุดนักเรียนไปโรงเรียนอยู่ แต่เริ่มพิจารณาที่จะไม่ใช้ชุดนักเรียนที่แยกเพศของเด็ก ๆ โดยโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในอังกฤษ อนุญาตให้นักเรียนชายสามารถสวมกระโปรงไปโรงเรียนได้ ส่วนนักเรียนหญิงก็สามารถสวมกางเกงไปโรงเรียนได้เช่นกัน
อีกประเทศที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศอย่างมากคือไต้หวัน รัฐบาลไต้หวันได้ประกาศยกเลิกนโยบายที่ให้นักเรียนแต่งชุดนักเรียนแบบเจาะจงเพศ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ นอกจากนี้ยังมี ‘ออสเตรเลีย’ ที่ปล่อยให้นักเรียนสามารถใส่ชุดนักเรียนตามเพศที่ตัวเองต้องการ เช่นเดียวกันกับ เม็กซิโก ไอร์แลนด์ และญี่ปุ่น
สังคมไทยกับ Crossdress และ Androgynous Fashion
“เพศในแฟชั่นมันหายไปเยอะแล้ว ถึงแม้จะยังแบ่งเป็นคอลเล็กชั่นผู้หญิง ผู้ชาย แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นยูนิเซ็กส์ แล้วแต่ว่าใครจะชอบแบบไหน”
เจมส์ – ธีรดนย์ : ศิลปิน, นักแสดง
แฟชั่นแบบ Crossdress หรือ ‘การแต่งกายข้ามเพศ’ ที่เป็นเพศกำเนิดของตัวเอง ส่วนใหญ่ผู้ชายแท้จะนิยมแต่งกายตามเพศหญิง เช่น การใส่กระโปรง การสวมรองเท้าส้นสูง ซึ่งมีมานานแล้ว แต่ในไทยยังไม่ค่อยนิยมมากนัก
ไดม่อน – จาตุรงค์ ลอยใหม่ Fashion VDO Creator และ Influencer ผู้เป็นที่รู้จักในวงการแต่งตัว Crossdress กล่าวถึงการที่สังคมไทยเริ่มเปิดกว้างเรื่องการแต่งตัวมากกว่าเมื่อก่อน “การแต่งตัวในประเทศไทยถ้าเทียบกับในช่วง 2 – 3 ปีก่อน ตอนนี้เปิดกว้างมากขึ้น แต่ก็ยังมีบางกลุ่มที่ยังไม่เปิดเหมือนกัน”
คำพูดของไดม่อนสะท้อนให้เห็นอีกมุมหนึ่งว่ายังมีคนที่ไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ โดยเฉพาะกับคนที่ยังถูกคำกล่าวที่ว่า “ไปใส่กระโปรงไป” ตีกรอบอยู่ กับการนำกระโปรงมาเป็นคำว่ากล่าวเปรียบเปรยผู้ชายว่าไม่เป็นสุภาพบุรุษหรือไม่กล้าหาญ ซึ่งจากกรอบคิดดังกล่าว ผู้ชายใส่เสื้อผ้าผู้หญิงจึงดูเป็นคนอ่อนแอ ไม่มีแรงที่จะช่วยเหลือใคร ในทางกลับกัน ผู้หญิงที่แต่งตัวแบบผู้ชายมักพบเห็นเป็นเรื่องปกติและได้เปรียบในเรื่องนี้ เพราะถ้าแต่งตัวแบบเพศตรงข้าม ก็มักจะถูกยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นหญิงแกร่ง ดูทะมัดทะแมง คล่องตัว และพึ่งพาตนเองได้
ถึงแม้ว่าในไทยจะเป็นเรื่องยากที่คนจะหันมาแต่งตัวแบบ Androgynous แต่ก็ยังมีศิลปินที่มีชื่อเสียงในวงกว้างออกมาแต่งตัวแนวนี้กันมากหน้าหลายตา เช่น ตน – ต้นหน ที่มีการใส่กระโปรงและทาเล็บ ติดตามได้จากการโพสรูปลงอินสตราแกรมส่วนตัว เขื่อน K-OTIC ที่ใส่ชุดคู่กับคุณแม่ เจมส์ – ธีรดนย์ ที่ใส่รองเท้าค่อนข้างมีส้นเหมือนรองเท้าส้นสูงของผู้หญิง และศิลปินคนอื่น ๆ เช่น พีพี – กฤษฏ์, บิว – จักรพันธ์, เจฟ ซาเตอร์ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่แล้วได้แรงบันดาลใจหรือความกล้ามาจากศิลปินต่างชาติที่แต่ละครชื่นชอบนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีแบรนด์เสื้อผ้าทั้งต่างประเทศและของไทยหลายแบรนด์ ที่เริ่มให้ความสำคัญและออกแบบเสื้อผ้าสไตล์ Androgynous หรือ Unisex เช่น W’menswear, Seeker x Retriever, Painkiller Atelier หรือแม้แต่ในงาน Siam Paragon Bangkok International Fashion Week 2022 หรือ BIFW2022 ก็มีแบรนด์เสื้อผ้าของไทยที่ดีไซน์เสื้อผ้าในสไตล์ Androgynous อยู่ในคอลเลคชั่น เช่น ISSUE, KLOSET, POEM ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะขับเคลื่อนและสนับสนุนวัฒนธรรมการแต่งกายใหม่ ๆ ในสังคมไทย
การแต่งกายเป็นเพียงศิลปะที่แสดงบนเรือนร่างรูปแบบหนึ่ง ไม่มีเพศ เป็นความสนุก ความสวยงาม และไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นสิ่งแบ่งแยกหรือตัดสินใคร หากตัดความคิดเดิม ๆ ออกไป จะเห็นว่าแฟชั่นก็คือการที่คน ๆ หนึ่งค้นหาสิ่งที่ดีที่สุด สิ่งที่เหมาะสมที่สุดให้กับตัวเอง เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในตัวเองให้มากขึ้น
ถึงแม้ว่าตอนนี้การแต่งตัวในประเทศไทยอาจจะยังไม่เปิดกว้างมากนัก แต่หวังว่าในอนาคต ความคิดและจิตใจของคนเราจะเปิดกว้าง และไม่คิดว่าเสื้อผ้าหรือแฟชั่นคือ ‘กรอบ’ ที่กำหนดว่าใคร ‘ต้อง’ ต้องเป็น ‘เพศ’ อะไร
“มันไม่เกี่ยวกับผู้หญิงในชุดเสื้อผ้าผู้ชายหรืออะไรพวกนั้น มันเกี่ยวกับเสื้อผ้าที่ดูดีกับทั้งคู่มากกว่า”
Jonathan Anderson : ผู้ก่อตั้งแบรนด์เสื้อผ้า JW Anderson
ข้อมูลอ้างอิง
เผยแพร่ครั้งแรก : Angkaew for Equality
เรื่อง : โยษิตา แสงจันทร์, เมทิกา เกษสังข์
ภาพ : สำนักข่าวอ่างแก้ว
บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ถ้ามีใครสักคนที่มีความสามารถทางด้านดนตรี มีผลงานเพลงของตัวเองที่ฟังแล้วน่าสนใจ และมีความฝันอยากก้าวไปเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง สิ่งที่คน ๆ นั้นควรทำต่อไปคืออะไร ?
อุตสาหกรรมดนตรีในยุคปัจจุบันมีช่องทางการเข้าถึงผู้ฟังที่หลากหลายขึ้นมาก เนื่องมาจากวิวัฒนาการของเทคโนโลยีในยุคใหม่ ส่งผลให้ผู้ฟังไม่จำเป็นต้องฟังเพลงผ่านทางสถานีวิทยุและไม่ต้องชมมิวสิควิดีโอจากสถานีโทรทัศน์อีกต่อไปแล้ว ยิ่งเมื่อโลกมีเทคโนโลยีในการสื่อสารใหม่อย่างสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ทำให้ศิลปินมีข้อมูลเพิ่มมากขึ้นว่าจะควรจะทำอย่างไร เพื่อให้ผลงานเพลงที่พวกเขาทำไปถึงคนฟังเพลงได้อย่างกว้างขวางมากที่สุด
เมื่อเราซื้อผลิตภัณฑ์ใดก็ตามมาใช้ ใช้ไปแล้วก็ย่อมมีวันหมด สุดท้ายขวดบรรจุภัณฑ์ที่มีประโยชน์ในตอนแรกก็จะกลายเป็นขยะไร้ค่าและต้องทิ้งหรือกำจัดไป