“สิ่งพิมพ์กำลังจะตาย”
บ่อยครั้งที่ได้ยินและได้เห็นประโยคนี้ ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีทำให้หนังสือปรากฏอยู่บนหน้าจอเล็ก ๆ ได้ การที่ร้านหนังสือตามริมทางจะหายไปจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงมีผู้คนที่ยังหลงใหลในสัมผัสของกระดาษที่ได้จับผ่านมือ และกลิ่นอายของกระดาษและน้ำหมึกก็ยังคงติดตรึงในใจ
เสน่ห์ของการที่ได้เลือกซื้อหนังสือด้วยตนเองในร้านหนังสือ ทำให้เรายังคงเห็นภาพของเหล่านักอ่านที่แวะเวียนไปตามร้านหนังสือต่าง ๆ และในเชียงใหม่ ก็ยังมีทั้งร้านหนังสืออิสระและร้านหนังสือมือสองที่คัดสรรหนังสือเฉพาะด้านมารวบรวมไว้อยู่ทั่วทุกมุมเมือง รอให้นักอ่านเข้ามาสร้างปฏิสัมพันธ์และตามหาขุมทรัพย์กระดาษที่อยู่ภายในร้านอยู่เสมอ
ร้านหนังสืออิสระ ใครว่าบริหารง่าย
หากพูดถึง ‘หนังสือมือสอง’ หลายคนคงจะมองว่าเป็นหนังสือเก่า ทว่าความจริงแล้วการขายหนังสือมือสองมีความต่างจากหนังสือเก่า ทั้งด้านลักษณะร้าน กลุ่มลูกค้า และการขาย โดยหนังสือมือสองอาจไม่ใช่หนังสือที่เก่าเสมอไป แต่อาจจะเป็นหนังสือที่มีอายุไม่กี่เดือน เป็นหนังสือใหม่เนี้ยบแกะกล่องไร้รอยยับ ในขณะที่หนังสือเก่าจะเป็นหนังสือที่มีอายุยาวนานและมีความหายากในตัว
ร้านหนังสือมือสองส่วนใหญ่จะเลือกรับหนังสือตามสไตล์ของแต่ละร้าน อย่างร้าน Gekko Books ที่ตั้งอยู่บนถนนช้างม่อยเก่าใกล้ประตูท่าแพ จะเลือกรับซื้อหนังสือจากต่างประเทศมาขาย ทำการซ่อมแซมแล้ววางขายเป็นหนังสือต่างประเทศมือสองที่หายากและัอยู่ในสภาพดี แต่บางร้านก็จะมีหนังสือทุกประเภทและทุกแนว อย่างเช่นร้าน เชียงใหม่บุ๊ค ที่ตั้งอยู่บนถนนศรีดอนไชย โดยราคาก็จะต่างกันไปตามสภาพหนังสือ มีทั้งที่ลดราคา 50% จนถึง 70% ก็มี ส่วนบางร้านก็รับหนังสือตำราเรียนจากห้องสมุดเก่า หรือแม้แต่หนังสือโละสต็อกตามร้านหนังสือมือหนึ่ง รวมไปถึงรับหนังสือต่อจากกลุ่มคนรับซื้อของเก่าที่รับมาในราคาที่ถูกแบบเหลือเชื่อ ซึ่งแม้ว่าสภาพจะดูไม่ดีนัก แต่การรับหนังสือจากกลุ่มคนเหล่านี้ก็ประหยัดต้นทุนและถูกกว่าการรับซื้อโดยตรงหลายเท่า
แม้ธุรกิจหนังสือมือสองจะดูเหมือนว่าไม่ได้มีกฎเกณฑ์ ทว่าในความเป็นจริงเจ้าของร้านหนังสือมือสองจะมีหลักเกณฑ์การซื้อ – ขาย และหลักเกณฑ์การรับสินค้าไม่ต่างจากธุรกิจอื่น ซึ่ง ดนัย ซึ้งสุนทร เจ้าของร้าน ดิลกบุ๊ค หนึ่งในร้านหนังสือเก่าในย่านสวนจตุจักร กรุงเทพมหานคร ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในบทความของนิตยสารสารคดีว่า
“หากซื้อหนังสือมา 100 เล่ม ต้องทำใจไว้ว่าต้องทิ้งแน่ ๆ 30 เล่ม ส่วนใหญ่เจ้าของร้านจะพยายามขายให้ได้มากกว่า 40 เล่ม ซึ่งเป็นจุดคุ้มทุน เกินกว่านั้นจึงจะกำไร 30 เล่มที่ต้องทิ้ง ร้านหนังสือมือหนึ่งมักจะโละขายให้ร้านหนังสือมือสอง ซึ่งมักจะได้รับอนุญาตให้อยู่บนชั้นหนังสือไปจนกว่าทางร้านจะแน่ใจแล้วว่าขายไม่ได้จริง ๆ ก็ถึงเวลาที่หนังสือเหล่านั้นจะถูกย่อยทำลาย กลายเป็นกระดาษรีไซเคิล
“เราต้องรู้จักหนังสือที่เราขายและรู้ใจคนอ่าน หนังสือภาษาไทยจะไม่มีปัญหาอะไรมาก ซื้อง่ายขายคล่องกว่า ส่วนหนังสือต่างประเทศจะราคาสูงและอ่านยากกว่า ลูกค้าจึงสนใจความสวยงามของหนังสือมากกว่าหนังสือภาษาไทยเล่มไหนภาพสวย จัดวางเลย์เอาท์ดี กระดาษคุณภาพ ก็มักจะถูกขายออกไปอย่างรวดเร็ว”
ถ้าอยากอยู่รอด ต้องหากลยุทธ์มัดใจนักอ่าน
ในปัจจุบันการซื้อ – ขายหนังสือเปลี่ยแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ด้วยการเข้ามาของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ นักอ่านหลาย ๆ คนจึงเลือกทางที่รวดเร็วและง่ายกว่าในการได้หนังสือมาครอง ในยุคที่โลกหมุนเร็ว ข้อมูลข่าวสารมีการเปลี่ยนผันและพัฒนาตลอดเวลา ประกอบการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทำให้หนังสือหมดอายุเร็วขึ้น ยกตัวอย่างเช่นหนังสือแบบเรียนที่เพียงไม่กี่ปีมีการเปลี่ยนไปหลายรูปแบบ ทำให้หนังสือเหล่านั้นไม่เกิดการส่งต่อ และสุดท้ายก็ตกมาอยู่ในมือของร้านขายของเก่าทั้งหลาย
การที่ร้านหนังสือมือสองมักได้รับหนังสือมาในสภาพที่ไม่ดีนัก แต่ละร้านจึงต้องคัดกรองและซ่อมแซมหนังสือในร้านด้วยตนเอง ทำให้ทางร้านรู้จักรายละเอียดของหนังสือแต่ละเล่มเป็นอย่างดี จนสามารถให้รายละเอียดและนำเสนอหนังสือให้ลูกค้าได้ตามที่ต้องการ เป็นแนวการบริการที่ต่างจากร้านหนังสือในห้างสรรพสินค้าที่พนักงานอาจไม่ได้รู้จักหนังสือทุกเล่ม ทำให้ผู้ประกอบการร้านหนังสือมือสองได้มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ตรงจุดนี้ถือเป็นเสน่ห์และเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งในการทำให้ลูกค้าติดใจ
นอกจากนี้ร้านหนังสือมือสองยังเลือกใช้ช่องทางออนไลน์ในการขยายโอกาสให้ลูกค้าได้เห็นหนังสือมากขึ้น โดยเหล่าเจ้าของร้านหนังสือมือสองต่างใช้ช่องทางออนไลน์ในการติดต่อพูดคุยกับลูกค้า โดยร้าน Gekko Books จะมีทั้งการโพสต์อธิบายรายละเอียดของหนังสือ พร้อมทั้งคำบรรยายแนะนำหนังสือเล่มนั้น ซึ่งบางครั้งเมื่อลูกค้าที่สั่งจองมารับหนังสือ ก็อาจจะมีการซื้อหนังสือเเล่มอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย นอกจากนี้ทางยังมีเว็บไซต์เพื่อความสะดวกต่อลูกค้าที่เลือกซื้อแบบออนไลน์ด้วย ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ร้านหนังสือมือสองใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น
‘ซื้อมา – ใช้ – หมุนเวียน’ เปลี่ยนหนังสือให้อยู่อย่างยั่งยืน
ในยุคที่ผู้บริโภคตระหนักและตื่นตัวต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ ‘ธุรกิจสีเขียว’ ที่ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและผลักดันให้ผู้บริโภคใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการนำผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพกลับมาใช้ใหม่ ธุรกิจหนังสือมือสองเองก็นับเป็นหนึ่งในธุรกิจสีเขียว แม้ว่าจุดประสงค์ตอนแรกของเหล่าผู้ประกอบการร้านหนังสือมือสองจะเริ่มมาจากความชอบในหนังสือ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจหนังสือมือสองก็เป็นการนำผลิตภัณฑ์ที่ยังคงมีประสิทธิภาพกลับมาใช้ใหม่ และการซื้อหนังสือเก่าก็นับเป็นการลดจำนวนการพิมพ์ใหม่ ลดการใช้กระดาษ และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง
ปัจจุบันในเชียงใหม่มีผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของร้านหนังสือมือสองในลักษณะดังกล่าว นั่นคือ เอี่ยม Book ซึ่งเป็นกา่รทำควบคู่กับ เอี่ยมดี รีไซเคิล ซึ่งเป็นธุรกิจรับซื้อของเก่า โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างรายได้ ซึ่งแม้ว่าในส่วนของรายได้และการบริหารงานในเชิงธุรกิจอาจจะยังไม่เข้ารูปเข้ารอย แต่แนวโน้มของธุรกิจก็นับว่าเป็นไปในมิศทางที่ดี และยังตอบจุดประสงค์อีกอย่างของผู้ประกอบการ นั่นคือการช่วยสร้างกระบวนการจัดการขยะให้สัมฤทธิ์ผลและยั่งยืน
โดม – สัมพันธ์ เณรรอด เจ้าของ เอี่ยม Book กล่าวว่า “ผมยังมองว่าหนังสือเป็นเรื่องสำคัญ เราอยากทำพื้นที่ให้กับชุมชนตรงนี้ ให้ใครก็ได้ที่สนใจเรื่องการอ่านมาหาหนังสือดี ๆ ไปอ่าน เรามีทั้งหนังสือจำหน่ายและให้ฟรี แต่ส่วนใหญ่ให้ฟรีอยู่แล้ว เราเลยทำเป็นห้องสมุดเล็ก ๆ ขึ้นมาในโรงรถ แล้วก็หาหนังสือดี ๆ มาให้คนที่เขาอยากได้ ให้เขามาซื้อได้ที่นี่ หรือว่ามาเอาที่นี่มายืมอ่านก็ได้”
จริงอยู่ที่หนังสือจะต้องมีวันเก่าและบุบสลายไปตามกาลเวลา ทว่าตราบใดที่มันยังคงถูกส่งต่อจากมือสู่มือ ผ่านสายตาคู่แล้วคู่เล่า หนังสือเล่มนั้นก็จะยังได้ทำหน้าที่ต่อไปเรื่อย ๆ ร้านหนังสือมือสองจึงเปรียบเสมือนตัวกลางที่ช่วยให้โลกของหนังสือยังคงหมุนต่อไป กับการทำหน้าที่นำหนังสือไปพบกับเจ้าของคนใหม่ เพื่อให้เขาคนนั้นได้สัมผัสกับกลิ่นอายของกระดาษและน้ำหมึกเหมือนเจ้าของคนก่อนหน้า รวมทั้งช่วยให้หนังสือเล่มนั้น ๆ ยังคงเป็นหนังสือ ไม่ใช่ขยะที่ถูกทิ้งขว้าง
ข้อมูลอ้างอิง
เรื่อง : รินรดา ศรีเรือง
ภาพ : สำนักข่าวอ่างแก้ว
บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การออก ‘ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 พ.ศ. 2565’ ที่กำหนดให้ทุกส่วนของ ‘กัญชา’ ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด และสารสกัดกัญชาที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนาบินอล (Tetrahydrocannabinol : THC) จำนวนไม่เกิน 0.2% ก็ไม่ถือเป็นยาเสพติด ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องจากการถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดพ.ศ. 2564 แล้ว ยังถือเป็นการ ‘ปลดล็อค’ ที่ส่งผลให้การใช้กัญชาในประเทศไทยสามารถทำได้โดยไม่มีข้อจำกัด
‘สัตว์จรจัด’ ในมุมมองของคุณคืออะไร ? เมื่อพูดถึงสัตว์จรจัด เราจะนึกถึงสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ไม่มีบ้าน ไม่มีอาหาร ไม่ได้รับความอบอุ่น ไม่ได้รับความดูแล ต้องหากินด้วยตัวเอง ส่วนอีกพวกหนึ่งคือสัตว์ที่อาศัยอยู่ในชุมชน เป็นสัตว์จรจัดเช่นกัน เพียงแต่สัตว์เหล่านั้นมีคนให้อาหาร หรือถ้าถ้าโชคดีเจอคนมีกำลังทรัพย์ ก็จะถูกพาไปฉีดวัคซีน ให้ยากำจัดหมัด ซึ่งสิ่งที่ว่ามานี้ตรงข้ามกับสัตว์เลี้ยงที่มีเจ้าของดูแล
ย้อนกลับไปในอดีต มนุษย์ยุคแรกไม่ได้แบ่งเครื่องแต่งกายออกตามเพศสภาพ ใช้เพียงหนังสัตว์ ฟาง หรือใบไม้ มาทำเป็นลักษณะคล้ายกระโปรง เพื่อเพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกายและป้องกันสัตว์ต่าง ๆ เท่านั้น ต่อมาเมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักการทอผ้า เสื้อผ้าจึงถูกปรับเปลี่ยนให้มีอารยะมากขึ้น แต่ก็ยังคงอยู่ในรูปทรงกระโปรงแบบเดิม เช่นเดียวกับวัฒนธรรมกรีก โรมัน ที่ผู้ชายยังคงใส่กระโปรง โดยจะใส่เป็นผ้าคลุมหลวม ๆ ยาวตลอดตัว ไม่ได้แบ่งข้างเป็นขาซ้ายขาขวา ง่ายต่อการตัดเย็บและสะดวกสบายในการใช้ชีวิต