เมื่อเราซื้อผลิตภัณฑ์ใดก็ตามมาใช้ ใช้ไปแล้วก็ย่อมมีวันหมด สุดท้ายขวดบรรจุภัณฑ์ที่มีประโยชน์ในตอนแรกก็จะกลายเป็นขยะไร้ค่าและต้องทิ้งหรือกำจัดไป
แต่ถ้าลองคิดอีกแบบว่า เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์จนของข้างในหมดแล้วก็ ‘เติม’ สิ ขนาดรถเมื่อน้ำมันหมดก็ยังต้องมีการเติม ไม่ได้ทิ้งรถไปย่อยแล้วซื้อใหม่เสียหน่อย ดังนั้นถ้าของใช้หมดคุณก็สามารถเอาไปเติมผลิตภัณฑ์ด้านในได้
แล้วจะให้ไปเติมที่ไหนล่ะ ? เราจะพาคุณไปรู้จัก Refill Store ธุรกิจสีเขียวที่ให้บริการเติมผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน กับไลฟ์สไตล์ที่มุ่งลดการสร้างขยะพลาสติก ด้วยกาเตรียมภาชนะที่ใช้แล้วไปเติมแล้วเอากลับมาใช้ต่อเท่านั้น
Refill Store ธุรกิจช่วยลดขยะ
ถ้าคุณเป็นคนสายรักสิ่งแวดล้อมที่อยากใช้ชีวิตแบบ Zero Waste ไลฟ์สไตล์แบบสร้างขยะให้น้อยที่สุด เป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะไม่รู้จัก Refill Store
บทความ ‘Zero Waste ขยะเหลือศูนย์’ ของไทยรัฐออนไลน์ กล่าวถึง Zero Waste ไว้ว่า เป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้ชีวิตที่ไม่สร้างขยะ หรือสร้างขยะออกไปสู่สิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยเน้นไปที่การลดการใช้พลาสติก การใช้ซ้ำ และการคัดแยกเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ โดยหัวใจหลักของแนวคิดนี้คือ ‘1A3R’ ซึ่งประกอบด้วย ‘Avoid’ การหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งที่ก่อให้เกิดขยะเพิ่ม เช่น พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ‘Reduce’ การใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดขยะให้น้อยที่สุด ‘Reuse’ การนำกลับมาใช้ใหม่ และ ‘Recycle’ การหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่
ขณะที่ Zero to Profit ให้คำนิยาม Refill Store ว่าคือร้านขายของชำแบบเติม ที่มีทั้งเครื่องใช้ต่าง ๆ อาหาร และเครื่องเทศ ที่ความพิเศษอยู่ตรงที่เราสามารถนำภาชนะจากบ้านไปใส่ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเองได้ ข้อดีของการใช้บริการ Refill Store คือการช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกและลดการสร้างขยะ นอกจากนี้เอกลักษณ์อีกอย่างของ Refill Store คือผลิตภัณฑ์ในร้านล้วนมาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก มีส่วนผสมของสารเคมีในปริมาณที่น้อย และยังเป็นผลผลิตที่มาจากชุมชนท้องถิ่น เรียกได้ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย
จากข้อมูลข้างต้น ถ้าจะอธิบายแนวคิดของธุรกิจ Refill Store ก็คงจะได้แก่ “การไม่สร้างขยะพลาสติกเลย” โดยหลีกเลี่ยงการใช้ขยะที่ใช้แล้วทิ้งอย่างผลิตภัณฑ์แบบใช้แล้วเติม ซึ่งมักบรรจุมาในบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง บรรจุภัณฑ์เหล่านี้หากกลายเป็นขยะแล้วจะต้องใช้เวลาย่อยสลายยาวนานถึงหลักร้อยปี ดังนั้นถ้าคุณอยากจะเติมผลิตภัณฑ์ แทนที่จะซื้อขวดใหม่หรือซื้อแบบเติมมาใช้ ลองไปที่ร้าน Refill Store ดูก่อนดีกว่า เพียงแค่ถือขวดเปล่าไป ก็เท่ากับเป็นการ Reuse หรือการใช้ซ้ำแล้ว เป็นการสร้างขยะพลาสติกเพียง 1 ชิ้นในเวลา 1 ปี เมื่อคุณเปลี่ยนเป็นการใช้ซ้ำ หมดแล้วเติมใหม่ จากขยะชิ้นหนึ่งที่ดูไม่มีอะไรก็กลายเป็นของใช้ที่มีคุณค่าขึ้นมาได้
เพราะขยะพลาสติกยากที่จะกำจัด
“ร้าน Refill Store สำคัญขนาดนั้นเลยหรือ ?” หลายคนอาจจะมีคำถามนี้ในใจ แต่ถ้าคุณเป็นคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ใช้ถุงผ้า ลดการใช้ถุงพลาสติก หรือไปเข้าร่วมจิตอาสา เก็บขยะ และปลูกต้นไม้ ธุรกิจนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์สร้างขยะเป็นศูนย์
ในบทความเรื่อง ‘A Guide To Refill Stores’ จาก Country & Town House ระบุว่ามีขยะพลาสติกที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลมากถึงร้อยละ 91 จากขยะพลาสติกทั้งหมด ซึ่งข้อเท็จจริงก็คือขยะพลาสติกไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้หมดทุกชิ้น ส่วนใหญ่จึงถูกนำไปฝังกลบ และมีขยะพลาสติกถูกส่งเข้าสู่กระบวนการจัดการอย่างถูกวิธีแค่ร้อยละ 19 เท่านั้น อีกทั้งพลาสติกยังเป็นวัสดุที่ใช้เวลาในหลุมฝังกลบนานถึง 450 ปีจึงจะย่อยสลายหมด เรียกได้ว่าทั้งกำจัดยากและเข้าสู่สิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมากอีกด้วย ส่งผลให้เกิดมลพิษทั้งทางดิน น้ำ และอากาศเลยทีเดียว
ลองคิดเล่น ๆ ว่า ถ้าคน 1 คนสร้างขยะพลาสติก 64.5 กิโลกรัมต่อปี เมื่อลองเอาขยะของคนทุกคนที่สร้างใน 1 ปีมากองรวมกันดู ปริมาณที่ได้แทบจะเท่ากับพื้นที่ 1 จังหวัดเลยทีเดียว นานวันเข้าขยะพลาสติกคงล้นโลก แต่ในทางกลับกัน หาก 1 คน สร้างขยะพลาสติกเพียง 1 กิโลกรัม เมื่อนำมากองรวมกันแล้วก็คงเป็นแค่เนินเขาเล็ก ๆ ยังเหลือพื้นที่ให้เดินและมีอากาศหายใจเพิ่มขึ้นอีก
ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้กันอยู่มีทั้งหมด 7 ชนิด ประกอบด้วย PETE/PET, HDPE, PVC, LDPE, PP, PS และอื่น ๆ โดยพลาสติกที่นิยมนำมาเป็นบรรจุภัณฑ์มากที่สุดคือ PEPT และ HDPE ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นเป้าหมายที่ธุรกิจ Refill Store ต้องการจะลดการใช้ให้ได้มากที่สุด
Refill Store ในเชียงใหม่
วิถีชีวิตแบบ Zero Waste มีแนวคิดหลักในการลดขยะพลาสติกในรูปแบบ Single Use ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และยังหาวิธีการกำจัดขยะชิ้นใหญ่อย่างบรรจุภัณฑ์จากสิ่งของเครื่องใช้ในบ้านอีกด้วย ซึ่งจุดนี้ทำให้เกิดร้านในรูปแบบ Bulk Store หรือร้านค้าแบบเติมขึ้นมา โดยในเชียงใหม่นั้นมีร้าน Refill Store อยู่ 3 ร้านด้วยกัน ได้แก่
Peace of Mind By ChiangmaiCotton เป็นร้านที่มีแนวคิดว่าอยากจะถ่ายทอดความเรียบง่ายและยั่งยืนของธรรมชาติ ภายในร้านมีสินค้าที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ งานฝีมือจากชาวบ้านท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์แฮนด์เมดจากวัตถุดิบธรรมชาติ และมีสเตชั่นสำหรับเติมผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน ซึ่งอยู่ในรูปแบบของสินค้าออร์แกนิกจากคนในพื้นที่ ตั้งแต่แชมพู สบู่ น้ำยาล้างจาน หรือแม้กระทั่งยาสีฟัน วิธีการคือนำภาชนะบรรจุไปเติมได้เองจากทางร้าน หรือถ้าไม่มีก็สามารถซื้อบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ใช่พลาสติกจากทางร้านได้เช่นกัน
River & Roads เป็นร้านของฝากน่ารัก ๆ ที่เริ่มต้นจากงานฝีมือของคนในพื้นที่ ภายในร้านจะมีมุม Foolfill Corner เป็นสเตชั่นสำหรับเติมผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ แชมพู และน้ำยาล้างจาน เป็นต้น โดยคุณสมบัติพิเศษของร้านนี้คือเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ มีการลดปริมาณของสารเคมี ถือเป็นสินค้าออร์แกนิกที่คนแพ้ง่ายก็สามารถใช้ได้ และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เรียกได้ว่านอกจากจะลดขยะพลาสติกได้แล้ว ยังสามารถลดปริมาณของสารเคมีที่จะออกสู่ธรรมชาติไปพร้อม ๆ กัน
Normal Shop สองร้านที่กล่าวไปก่อนหน้านี้จะเป็นธุรกิจของฝากที่มีสเตชั่นสำหรับเติมผลิตภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของร้าน แต่สำหรับร้าน Normal Shop นั้นเป็นร้าน Refill Store โดยเฉพาะ ภายในร้าจะมีมุมเติมน้ำยาที่ใช้ในชีวิตประจำวันยาวจนสุดผนัง วางแยกเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นแชมพู สบู่ ครีมนวด น้ำยาล้างจาน และน้ำยาทำความสะอาด โดยน้ำยาแต่ละชนิดมีการปรับสูตรให้เป็นธรรมชาติจากวิสาหกิจชุมชน ลดสารเคมี ปลอดภัยสำหรับคนที่แพ้ง่าย รวมถึงเด็ก ๆ ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน
‘ร้านค้าแบบเติม’ ที่อยากช่วยลดขยะตั้งแต่ต้นทาง
Normal Shop ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นสถานที่สำหรับชุมชนลดขยะตั้งแต่ต้นทาง ในรูปแบบของร้าน Refill Store ที่เปิดแห่งแรกในเชียงใหม่ อีกทั้งยังมีการขยายสาขาไปยังกรุงเทพฯ และนครปฐมอีกด้วย
“แม้หลาย ๆ คนจะบอกว่าการทำให้ขยะเป็นศูนย์เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่สำหรับเรา Zero Waste เป็นคำสำคัญที่ช่วยเตือนใจให้เราสร้างขยะให้น้อยที่สุด และพยายามทำให้ขยะจากบ้านของเราส่งออกไปที่บ่อฝังกลบให้เป็นศูนย์ แนวคิดนี้มีความเป็นไปได้ถ้าทุกคนช่วยกัน” คุณกรวรรณ คันโธ เจ้าของร้าน Normal Shop พูดถึงแรงบันดาลใจในการเริ่มเปิดร้านแห่งนี้
คุณกรวรรณอธิบายว่าขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อให้ร้านเป็น Zero Waste Shop นั้นมีกระบวนการหลายอย่างมาก เช่น ต้องเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้ สะดวกในการเติมและการล้างทำความสะอาด มีความเหมาะสมกับสินค้า และมีขั้นตอนการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ส่งมาจากผู้ผลิตมากกว่าร้านค้าทั่วไป “ในบางครั้งเราจะทำงานกับผู้ผลิต โดยช่วยเสนอการจัดส่ง การเปลี่ยนวัสดุและรูปแบบบรรจุภัณฑ์ไม่ให้เป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง มีการหมุนเวียนบรรจุภัณฑ์กับผู้ผลิต และทำงานกับหน่วยงานที่รับขยะ โดยเราจะส่งต่อขยะในส่วนที่ไม่ได้ใช้ให้กับหน่วยงาน ที่เราแน่ใจว่าเขาจะนำไปจัดการได้อย่างเหมาะสม”
Normal Refill เป็นมุมเติมผลิตภัณฑ์ของใช้ในบ้าน ที่ต้องการช่วยให้ทุกคนลดขยะประเภทบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นทาง โดยสนับสนุนให้มีการนำภาชนะของตัวเองมาเติมที่จุดบริการ มีการหมุนเวียนใช้ซ้ำพลาสติกประเภทบรรจุภัณฑ์และช่วยป้องกันขยะหลุดรอดออกสู่ภายนอก ขณะที่สินค้าภายในร้าน Normal Shop เป็นสินค้าปะเภท Household, Body Care, Bio-Bright ที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม่มีสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง อีกทั้งยังปลอดภัยต่อเด็ก สตรีมีครรภ์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการลดมลภาวะทางน้ำจากผลิตภัณฑ์อีกด้วย
ส่วนวิธีการใช้บริการก็เพียงแค่นำขวดเปล่าจากบ้านที่ล้างจนสะอาดมาวางบนตราชั่งของทางร้าน กดปุ่ม On ก่อน ตามด้วยปุ่ม Tare อีกครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าน้ำหนักเป็นศูนย์ จากนั้นให้นำขวดดังกล่าวไปกดผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ แล้วนำกลับมาวางบนตราชั่งเพื่อตรวจสอบน้ำหนักที่บรรจุได้ โดยในขั้นตอนสุดท้ายจะต้องทำการสแกน QR Code ที่อยู่บนป้ายแขวนผลิตภัณฑ์ เพื่อกรอกปริมาณที่เติมได้แล้วกดชำระเงิน เพียงเท่านี้ก็เสร็จสิ้น
อนาคตของธุรกิจ Refill Store
จากบทความ ‘แชร์ไอเดียธุรกิจจากหลักคิด Refill Store’ ของธนาคารกรุงเทพ ได้นำเสนอ 6 แนวคิดที่คาดดว่าจะเป็นอนาคตของธุรกิจ Refill Store โดยพูดถึงการต่อยอดธุรกิจนี้ในรูปแบบอื่น ๆ นอกเหนือจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือน โดยในที่นี้จะขอยกตัวอย่างมานำเสนอ 3 รูปแบบด้วยกัน
ร้าน Refill อาหารสัตว์ เนื่องจากอาหารสัตว์เป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่บรรจุมาในถุงพลาสติก และเป็นที่ทราบกันดีสำหรับคนเลี้ยงสัตว์ว่า ใน 1 เดือนจะต้องมีการซื้ออาหารสัตว์หลายครั้งและหลายรสชาติเพื่อนำมาผสม เมื่อคำนวณดูแล้ว คนเลี้ยงสัตว์ 1 คนสร้างขยะพลาสติกต่อเดือนเป็นจำนวนมากกว่า 10 ถุง ดังนั้น Refill Store ในรูปแบบของอาหารสัตว์ก็เป็นอีกธุรกิจที่น่าสนใจ
ร้าน Refill ข้าวสาร ในรูปแบบร้านค้าที่เป็นศูนย์รวมข้าวทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียว ข้าวจ้าว ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี ข้าวหอมปทุม ข้าวตาแห้ง ข้าวดอย ข้าวกล่ำ ข้าวสังข์หยด และอีกมากมาย นอกจากในร้านจะมีข้าวหลากหลายชนิดแล้ว ข้าวภายร้านก็ต้องเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพและการคัดสรรข้าวที่เต็มเมล็ด นอกจากนี้ถ้ามีการสนับสนุนชาวนาตัวเล็ก ๆ ในชุมชนด้วย ก็จะเป็นร้านในอุดมคติเลยทีเดียว
ร้านฝากขายสินค้าจากสมาชิกในเครือ ไอเดียนี้เป็นความคิดของกลุ่มเกษตรกรที่มีการรวมกลุ่มเป็น Young Smart Farmer กับการนำผลผลิตจากเกษตรกรในกลุ่มมาวางจำหน่ายร่วมกันในร้านสมาชิก
ส่วนคุณกรวรรณในฐานะผู้ประกอบธุรกิจด้านนี้ ให้ความเห็นถึงอนาคตของธุรกิจ Refill Store ไว้ว่า “ในอนาคตธุรกิจนี้จะมีจำนวนคนที่สนใจเพิ่มมากขึ้น แต่ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค และการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย”
ทางเลือกเพื่อโลกที่ดีกว่า
“ร้าน Refill Store แล้วดียังไง ? จำเป็นขนาดไหนกับชีวิตเรา ?” คือคำถามที่ผู้เปิดกิจการ Refill Store หลายคนต่างก็เคยเจอ หรือคนที่ใช้บริการนี้แล้วแนะนำต่อให้กับคนอื่น ก็มักจะต้องเจอคำถามเหล่านี้ย้อนกลับมาเช่นกัน
แม้ว่าคำว่า ‘ขยะเป็นศูนย์’ จะดูเป็นไปได้ยาก แต่การพยายามสร้างขยะให้น้อยที่สุดเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ถ้าทุกคนในสังคมช่วยกันคนละนิด เปรียบเหมือนทฤษฎีผีเสื้อขยับปีกกระทบถึงดวงจันทร์ ที่มีความเชื่อว่า สิ่งเล็ก ๆ ที่เราทำทุกวันที่บ้าน เมื่อทุกคนทำกันจนเป็นเรื่องธรรมดาก็จะส่งผลดีที่ยิ่งใหญ่
แน่นอนว่าเราไม่สามารถยัดเยียดหรือตีค่าว่าอะไรดีหรือไม่ดี เป็นเรื่องปกติบางคนจะยังไม่ข้าใจหรือไม่เห็นความสำคัญของ Refill Store เช่นเดียวกับคนที่สนใจแต่อาจจะยังไม่พร้อมในการเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตที่ตัวเองคุ้นเคย แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาของการก้าวเข้าสู่โลกของารเติม คุณสามารถถือพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งเข้าไปเติมผลิตภัณฑ์ที่ร้าน Refill Store ได้ทุกที่ โดยที่คุณจะได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นเสมอ เพราะสิ่งที่ร้านเหล่านี้ต้องการเสนอให้คุณคืออีกทางเลือกและส่งต่อความคิดเรื่องการลดขยะให้ปพร่หลายออกไปให้มากที่สุด
ถึงวันนี้คุณอาจยังไม่สามารถเลิกหรือลดการใช้พลาสติกได้ทันที แค่เพียงคิดอยากลดปริมาณการใช้ให้น้อยลง การเปลี่ยนแปลงตัวเองทีละนิดที่คุณทำไป สุดท้ายแล้วจะส่งผลดีต่อโลกใบนี้ได้อย่างแน่นอน
ข้อมูลอ้างอิง
เผยแพร่ครั้งแรก : Angkaew for Equality
เรื่อง : ไพลิน จิตรสวัสดิ์, นุชจรี โพธิ์นิยม
ภาพ : ไพลิน จิตรสวัสดิ์, สำนักข่าวอ่างแก้ว
บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หากเอ่ยชื่ออย่าง Grab, Uber, Indriver เชื่อว่าหลาย ๆ คนรู้จักคุ้นเคยกันดี ว่าเหล่านี้คือแอปพลิเคชันที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ด้วยบริการเรียกรถโดยสารที่ผู้ใช้สามารถรู้ราคาและคำนวณระยะเวลาได้ในทันที เพราะผู้คนต่างก็ต้องการการเดินทางที่สะดวกสบายและรวดเร็ว ดังนั้นการใช้บริการแอปพลิเคชันเหล่านี้จึงกลายเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของคนในปัจจุบัน
คนเราจะมีวันพรุ่งนี้ได้อีกกี่วัน? หากชีวิตเป็นสิ่งชั่วคราว ไม่ได้ยืนยาวเหมือนรัฐบาลลุงตู่ วูบวาบเพียงชั่วครู่ไม่ได้เลิศหรูเหมือนในนิยาย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นปุบปับแล้วดับสูญไป ไม่ทันได้เตรียมใจ ความตายก็มาพรากจากเรา
“เหมือนโลกเรามียักษ์ใหญ่อยู่ตัวหนึ่ง ทุกคนกลัว แล้วอยู่ดี ๆ มีผู้หญิงคนหนึ่งไปกรีดข้อเท้ายักษ์ ทำให้ทุกคนเห็นว่ายักษ์ก็เลือกออกได้ ถ้ายักษ์เลือดออกได้ ก็หมายความว่ายักษ์ก็ล้มได้นั่นเอง นี่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพราะฉะนั้นการเยือนไต้หวันของเพโลซีมันยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะกับไต้หวันเท่านั้น แต่มันยิ่งใหญ่กับโลกด้วย”