จากผลสำรวจการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในปี 2565 พบว่า มีนักท่องเที่ยวสูงถึง 71% ที่ต้องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 10% จากปีก่อนหน้านี้ (ข้อมูลจากรายงานการเดินทางอย่างยั่งยืน ปี 2565 โดย booking.com) โดยการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนั้น มีความหมายมากกว่าการรีไซเคิลหรือการจำกัดขยะ แต่ยังหมายรวมถึงการเข้าถึงผู้คนในท้องถิ่น การปกป้องสภาพแวดล้อมที่มีอยู่ดั้งเดิม ปกป้องธรรมชาติ และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน
รีสอร์ตแสนอบอุ่นในอำเภอฮอด อำเภอเล็กๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงเสน่ห์ของวิถีชีวิตอันเรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติที่แสนเงียบสงบ และงดงาม โดยที่แห่งนี้คำนึงถึงการอยู่ร่วมกันของชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างเกื้อกูล
“เดิมที บริเวณนี้เป็นนาข้าว โดย ภู แปลว่าดินแดน ส่วน อันนา แปลว่าข้าว เมื่อรวมกัน ภูอันนาก็คือ ดินแดนแห่งข้าว" พี่ปู ผู้ดูแลรีสอร์ตภูอันนา อีโค่ เฮ้าส์ เกริ่นเล่าให้ฟัง โดบที่ดินเดิมนั้นเป็นที่ลุ่มน้ำ ซึ่งมักจะมีน้ำขัง โดยเฉพาะหากเกิดน้ำท่วมจะกลายเป็นแอ่งน้ำทั่วบริเวณ ทำให้ไม่มีใครต้องการที่ดินตรงนี้ เมื่อ โบ-เอม อึ้งจิตรไพศาล เจ้าของรีสอร์ตเห็นป้ายประกาศขายที่ดินจากชาวบ้าน จึงสนใจซื้อเก็บไว้เพราะอยู่ใกล้บ้าน และต้องการพัฒนาที่ดินแห่งนี้ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
พี่ปูเล่าต่อว่า เจ้าของรีสอร์ตมีแนวคิดในการสร้างรีสอร์ตให้เป็นบ้านประหยัดพลังงาน โดยคำนึงถึงความมั่นคงและยั่งยืนตั้งแต่วัสดุที่ใช้สร้าง ไปจนถึงระบบต่างๆ ภายในบ้านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“ด้วยความที่พี่โบเขาจบสถาปนิกมา เขาเลยคิดจะทํารีสอร์ต แต่ถ้าทําเยอะ ก็จะกินพื้นที่เยอะ จะต้องตัดต้นไม้เยอะ เขาเลยทําแค่ 8 ห้อง 2 ชั้น ให้มีพื้นที่ก่อสร้างให้น้อยที่สุดเพื่อไม่ทําลายต้นไม้ และแอ่งน้ำ นอกจากนี้ ยังก่อสร้างโดยใช้วัสดุดินแดงในชุมชน โดยทำเป็นบ้านดินเพราะไม่ทำให้บ้านร้อน และเป็นการใช้วัสดุที่มาจากจากธรรมชาติในตัว“
ภูอันนา อีโค่ เฮ้าส์ ออกแบบโดยมุ่งเน้นประโยชน์ใช้สอย ตัวบ้านทำให้เรานึกถึงบรรยากาศของบ้านในชนบทที่แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติสีเขียว ต้นไม้ใบหญ้า และแม่น้ำให้พายเรือเล่นได้ ด้านของตกแต่งส่วนใหญ่เป็นวัสดุจากไม้และของเก่าที่ยังแข็งแรง และหลีกเลี่ยงวัสดุที่เป็นพลาสติกเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด จากคอนเซ็ปต์ที่ว่านี้ ทำให้ในระยะเวลาหนึ่งปี ภูอันนาสามารถลดการใช้ขวดพลาสติกไปได้มากถึง 10,000 ขวด
“เราไม่ใช้พลาสติกในห้องเลย แต่จะใช้ขวดน้ำดื่มแบบเติมได้ ขวดสบู่หรือแชมพูเราก็ใช้แบบกด คือเมื่อก่อนเราใช้แบบขวดเหมือนโรงแรมทั่วๆไป มันไม่ยั่งยืนแล้วก็เปลืองทรัพยากรเลยเปลี่ยนมาใช้แบบกดที่ติดอยู่กับผนังแล้วรีฟิลล์ให้ลูกค้า ในห้องจะไม่มีถุงพลาสติกให้ใช้เลย บริเวณหน้ารีสอร์ตของเรามีร้านกาแฟด้วย แก้วกาแฟของที่นี่ก็จะเป็น Advance Bio คือบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนการกําจัดขยะเราจะมีการแยกประเภทโดยเฉพาะพลาสติก ถ้าลูกค้าเอาขวดพลาสติกมาเราก็จะจัดถังขยะพลาสติกเอาไว้ให้ทิ้งโดยเฉพาะ“
ภูอันนาต้องการให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการใช้พลังงานอย่างเหมาะสม ภายในห้องพักจึงมีจุดให้ข้อมูลสำหรับการใช้ไฟแต่ละดวงเพื่อให้ได้พลังงานที่มีขนาดเพียงพอ พอดีกับความต้องการและประเภทของการใช้งาน พี่ปูยังได้เล่าต่อถึงการใช้ไฟฟ้าของรีสอร์ตและระบบการประปาที่มีความแตกต่างจากที่อื่นๆ
(ภาพระบบไฟในภูอันนา อีโค่ เฮ้าส์ โดย ภูมิพัฒน์ ใจมาสิทธิ์)
“ระบบไฟที่นี่จะประหยัดไฟมากเพราะภูอันนาใช้ไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ที่ผลิตมาจากโรงงานน้ำ คือจะติดที่โรงงานน้ำแล้วส่งไฟมาตรงนี้ ตอนกลางวันเราจะใช้โซล่าเซลล์เพราะมันประหยัดกว่า และมีการใช้ระบบไฟฟ้าแบบ TOU คือตามข้อกำหนดของการไฟฟ้าช่วงเก้าโมงถึงสี่ทุ่มเรทค่าไฟจะแพงที่สุด เราก็จะลดการใช้ไฟในช่วงเวลานี้และเสริมด้วยโซล่าเซลล์ของเราก็จะเป็นการประหยัดไฟที่สุด ส่วนเรื่องน้ำ น้ำเสียเหลือทิ้งเขาจะเอาลงถังแล้วก็ไปบําบัด น้ำกินน้ำใช้ส่วนใหญ่ของภูอันนาจะเอามาจากโรงงานน้ำที่ผ่านการบําบัดแล้ว แล้วก็เป็นน้ำของในหมู่บ้านด้วย น้ำที่ใช้ในห้องน้ำเนี่ยเขาก็จะผ่านระบบบําบัดของเรา“
จากส่วนต้อนรับที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ เดินผ่านทางเดินที่มองเห็นวิวกว้าง ก็จะพบกับอาคาร 2 ชั้น สีส้มอมแดง ซึ่งเป็นสีที่ได้มาจากการใช้ดินในพื้นที่ ผสมกับคอนกรีต ฉาบไปทั้งอาคาร ทุกห้องพักที่นี่ถูกวางตำแหน่งหันหน้าไปทางทุ่งนา และ ภูเขา เป็นภาพที่คนรักธรรมชาติต้องหลงรักแน่นอน
“เขาก็จะจัดโซน ออกแบบว่าห้องควรหันหน้าเข้าทางไหนเพื่อให้ลูกค้าได้ดูวิวและที่สำคัญทิศทางแดดและทิศทางลมต้องเหมาะสมกับการใช้งาน อ่า อย่างการสร้างร้านกาแฟก็ต้องสร้างให้ห่างจากที่พักเพื่อไม่ให้มีเสียงรบกวนลูกค้า แม้แต่โรงจอดรถก็จะไกลหน่อย ส่วนต้นไม้เนี่ยเขาก็เอามาปลูกเสริมมันสร้างอะไรนะ ภูมิทัศน์ที่ดีกับโรงแรมและก็เพิ่มออกซิเจนให้มากขึ้นด้วย“
(ภาพกิจกรรมพายเรือของภูอันนา อีโค่ เฮ้าส์ โดย ศรุตา ไชยวงศ์)
ภูอันนากำลังมองหาแนวทางเพื่อลด Carbon Footprint จากการดําเนินกิจกรรมต่างๆภายในรีสอร์ต ด้วยการเข้าโครงการ Carbon Credit ที่สามารถนําส่วนต่างของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดไปแล้วมาแปลงเป็นมูลค่าเงินได้และเป็นแบบอย่างที่ยั่งยืนให้กับชุมชน
“เขาเรียกคาร์บอนเครดิตป๊ะ อันนี้คือพี่โบเขากําลังศึกษาอยู่ เขาอยากจะทําตรงนี้ให้ยั่งยืนแล้วก็เป็นตัวอย่างในชุนด้วย เขากําลังศึกษาตรงนี้แล้วเขากําลังจะพัฒนาเรื่องเนี่ยแหล่ะ คาร์บอนเครดิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมคือเขาจะมาทําแล้วก็มาพัฒนา แล้วก็อยากให้เป็นตัวอย่างของรีสอรท์ในละแวกฮอด ถ้าเป็นตัวอย่างของที่อื่นได้ด้วยก็ดี“
ภายในรีสอร์ตยังมีกิจกรรมให้ทำมากมาย เช่น การพายเรือหรือปั่นจักรยาน ชมวิถีชีวิตชุมชนและเที่ยวฟาร์มเกษตรอินทรีย์ในบริเวณรอบๆ ไปจนถึงการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชผักสวนครัวโดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่อากาศเริ่มหนาวเย็น ทางรีสอร์ตยังเริ่มปลูกข้าวในนาด้านหน้า ซึ่งช่วยเพิ่มบรรยากาศที่สวยงาม หรือจะนั่งชิวๆรับลมที่ระเบียงก็ได้ บรรยากาศที่ผ่อนคลาย ทําให้ผู้เข้าพักได้สัมผัสและเชื่อมโยงกับธรรมชาติจริงๆ
“คือทุกวันนี้น่ะส่วนใหญ่เราจะกลับเข้าสู่จุดเริ่มต้น เข้าหาธรรมชาติเนอะ เราอยู่ในสังคมเมืองเราก็เห็นตึก นู่นนี่นั่น, เราก็แบบรู้สึกชีวิตกดดัน คนยุคเนี้ยใช้ชีวิตมีความกดดันกว่าสมัยก่อนเพราะว่าค่าครองชีพมันสูงขึ้น บางครั้งเนี่ยทํางาน ทํางานแล้วไม่ได้พักผ่อน ก็เกิดความเครียดเราทั้งที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว เขาก็ต้องหาทางก็คือมาบําบัดมาหาธรรมชาติ, ถ้าเกิดเราไปเที่ยวธรรมชาติเนี่ย พี่ก็อยากให้คนที่ไปให้ความร่วมมือกับชุมชน อยู่ในป่าในธรรมชาติอะก็ใช้ชีวิตอย่างที่ชาวบ้านเค้าใช้กัน อย่างที่รีสอร์ตของเราจะมีอาหารเช้าใช่ไหม เราจะไปซื้อวัตถุดิบหรืออาหารพื้นเมืองที่ชาวบ้านเขาทำขายในตบาดมาให้ลูกค้า เป็นการช่วยอุดหนุนชุมชนไปอีกทางด้วย เขาเรียก เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตามใช่ไหม แล้วก็อยากให้ช่วยกันรักษาความสะอาดและไม่ทําลายสิ่งแวดล้อมด้วยนะ“
ภูอันนา อีโค่ เฮ้าส์ ได้ส่งมอบประสบการณ์ผ่านการคิดเพื่อสังคม ตั้งแต่วัสดุการสร้าง การจัดวางตำแหน่งรีสอร์ต การวางระบบน้ำและระบบไฟฟ้า และการลด Carbon Footprint เพื่อพัฒนารีสอร์ตให้อยู่ร่วมกับสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป
อ้างอิง
เซฟไทย. (2564). Peak , Off-Peak และ TOU คืออะไร? แล้วทำไมผู้ใช้ไฟถึงต้องรู้จัก. สืบค้นวันที่ 3 มีนาคม 2567, จาก https://safesavethai.com/articles/what-is-peak-and-off-peak/
บ้านและสวน. (2566). ภูอันนา อีโค่เฮาส์ ภูธรรมชาติ ภูแห่งความสุข. สืบค้นวันที่ 3 มีนาคม 2567, จาก https://www.baanlaesuan.com/111611/houses/phu-anna-eco-house-2
แอดวานซ์ไบโอ. (2567). หากคุณกำลังมองหาบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ทำร้ายโลกอยู่ละก็… Advance BIO มีคำตอบ. สืบค้นวันที่ 3 มีนาคม 2567, จาก https://www.advancebio11.com/blog/Advance-BIO-Contact-Line
Aiello. (2565). Eco hotel โรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม – แนวทางปฏิบัติและเทรนด์ปี 2565. สืบค้นวันที่ 3 มีนาคม 2567, จาก https://www.advancebio11.com/blog/Advance-BIO-Contact-Line
Chanuntorn. (2565). Eco House บ้านประหยัดพลังงาน. สืบค้นวันที่ 3 มีนาคม 2567, จาก https://www.chanuntorn.com/chanuntornfamily/eco-house-baanprahyadphlangngaan
ทีมงาน
ข้อมูล : ฐิตารีย์ ลอยพริ้ง
เขียน : ฐิตารีย์ ลอยพริ้ง
พิสูจน์อักษร : ณิชาพร ฉ่ำวารี
ภาพ : นัทธมน กุลชานันทน์, ภูมิพัฒน์ ใจมาสิทธิ์, ศรุตา ไชยวงศ์
เวลาที่คนเราประสบปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตจนทำให้รู้สึกเป็นทุกข์ ไม่สบายกายสบายใจ แน่นอนว่าการจะแก้ปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้น ย่อมเริ่มจากการหาที่มาของปัญหาให้เจอแล้วพยายามหาทางแก้ไข แต่บางครั้งการ ‘หาที่พึ่ง’ ไม่ว่าจะทางใดก็ก็ตาม ก็เปฌนอีกวิธีที่ผู้คนเลือกใช้เพื่อบรรเทาความทุกข์และสร้างความหวังให้กับทั้งตนเองและบุคคลรอบข้าง
เกิดเป็นหญิงแท้จริงนั้นแสนลำบาก คำกล่าวนี้ไม่เคยเกินจริง เมื่อเพศหญิงเกิดมาพร้อมกับการมีประจำเดือนในวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งอาการข้างเคียงในวันที่มามาก มีตั้งแต่ปวดท้องเพียงเล็กน้อยไปจนถึงปวดมากจนลุกไปทำงานแทบไม่ไหว บางรายเป็นไข้ อาเจียน และท้องเสีย จนต้องขอลางานโดยใช้โควตาของลาป่วย ปัจจุบันจึงมีการเดินหน้าของ "กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม" เรียกร้องให้ผู้หญิงสามารถลาในวันนั้นของเดือนได้โดยที่ยังคงได้ค่าจ้างตามปกติ
คงไม่มีใครคาดคิดว่า ปีนี้เชียงใหม่จะกลายเป็นเมืองจมบาดาลซ้ำๆ 2 ครั้ง 2 คราในเวลาไล่เลี่ยกันเพียงไม่ถึงเดือน คำถามต่อมาที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วในอนาคตล่ะ ? เชียงใหม่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่แบบนี้ทุกปีหรือไม่ และชาวเชียงใหม่จะต้องเตรียมรับมือกับอุทกภัยอย่างไรต่อไป ? ชวนไปหาคำตอบเรื่องนี้กับภายฉายในอนาคตข้างหน้าของเชียงใหม่