คงไม่มีใครคาดคิดว่า ปีนี้เชียงใหม่จะกลายเป็นเมืองจมบาดาลซ้ำๆ 2 ครั้ง 2 คราในเวลาไล่เลี่ยกันเพียงไม่ถึงเดือน คำถามต่อมาที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วในอนาคตล่ะ ? เชียงใหม่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่แบบนี้ทุกปีหรือไม่ และชาวเชียงใหม่จะต้องเตรียมรับมือกับอุทกภัยอย่างไรต่อไป ? ชวนไปหาคำตอบเรื่องนี้กับภายฉายในอนาคตข้างหน้าของเชียงใหม่
จากครั้งแรกนับตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2567 ซึ่งเชียงใหม่ได้รับอิทธิพลจากพายุซูริกและร่องความกดอากาศต่ำ ทำให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง และน้ำป่าไหลหลากหลายจุด ส่งผลให้ในเวลาต่อมาแม่น้ำปิงและลำน้ำสาขาในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำมีปริมาณน้ำสูงจนเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจากข้อมูลการวัดระดับแม่น้ำปิงที่สถานี P.1 สะพานนวรัฐอยู่ระดับสูงสุดที่ 4.93 เมตร (สูงกว่าตลิ่ง 1.23 เมตร) ซึ่งนับว่าเป็นมหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงกว่าปี 2554 ที่ระดับน้ำปิงอยู่ที่ 4.90 เมตร
เวลาผ่านพ้นไปไม่กี่สัปดาห์ ล่วงเข้าสู่ต้นเดือนตุลาคม 2567 ได้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งคราวนี้ระดับน้ำปิงสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่เคยเกิดขึ้นโดยอยู่ที่ระดับ 5.20 เมตร สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน และทรัพย์สินประชาชนในพื้นที่ในวงกว้าง
ภาพ : Flickr
ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์บทความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Sonthi Kotchawat ระบุถึงสาเหตุของน้ำท่วมเชียงใหม่ไว้ว่า ฝนตกหนักบนดอยติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน อีกทั้งพื้นที่บนดอยถูกเปลี่ยนสภาพให้เป็นเกษตรกรรมพืชเชิงเดี่ยว ทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สูญเสียความสมดุลตามธรรมชาติของดินและความหลากหลายทางชีวภาพ
เมื่อเกิดฝนตกหนักบนพื้นที่สูง จึงส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากลงมายังพื้นที่ราบเชิงเขาโดยเฉพาะที่อำเภอเชียงดาว อำเภอแม่แตง อำเภอแม่ริม และอำเภอพร้าว เกิดน้ำท่วมอย่างรวดเร็วในพื้นที่ราบเชิงเขาของอำเภอเชียงดาว อำเภอแม่แตง และอำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยทั้งแม่น้ำแม่งัด แม่น้ำแม่แตง และแม่น้ำปิงมีปริมาณน้ำไหลเชี่ยวกราก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่เมืองเชียงใหม่ขยายไปสู่อำเภอรอบนอก
ทั้งนี้ ปี 2566-2567 จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 285,004 ไร่ อำเภอเชียงดาวมีพื้นที่ปลูกข้าวโพด 19,878 ไร่ และอำเภอแม่แตงมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดประมาณ 1636.75 ไร่ ส่วนใหญ่จะปลูกพืชบนดอยสูง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำป่าบนภูเขาต้นน้ำไหลหลากลงมายังพื้นที่ราบเชิงเขาอย่างรวดเร็วและรุนแรง
เหตุการณ์มหาอุทกภัยเชียงใหม่ครั้งรุนแรงที่สุด สร้างความเสียหายกว่า 5 พันล้านบาท จนหลายคนเกิดคำถามในใจขึ้นมาว่า แล้วอนาคตจากนีไป น้ำจะท่วมเชียงใหม่ทุกปีหรือไม่ ? อย่างไรก็ตาม เราได้สอบถามไปยัง ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ หัวหน้าศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อประเด็นดังกล่าว
“ทางศูนย์ฯ ทำการจำลองและฉายภาพโดยใช้แบบจำลองที่เรียกว่า “แบบจำลองภูมิอากาศระดับภูมิภาค Regional Climate Model” หลักการทำงานคือ เรานำภาพฉายที่เป็นแบบจำลอง Global Climate Model มาทำให้ละเอียดขึ้น ถ้าเราดูรูปแบบการเปลี่ยนแปลงของฝนภายใต้ภาพฉาย (ระยะยาว) ค่าเฉลี่ยฝนรายปี ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ถ้าดูจากค่าเฉลี่ยรายเดือนของแต่ละปี มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ทำให้จากนี้ไปอีก 10-30 ปีข้างหน้า จึงมีโอกาสจะเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า "สภาพภูมิอากาศสุดโต่ง" แล้วส่งผลทำให้เกิดภัยแล้งและน้ำท่วมใหญ่ในภาคเหนือหรือหลายจังหวัดของประเทศ” ผศ.ดร.ชาคริต อธิบาย
เมื่อถามต่อถึงปัจจัยที่ทำให้เชียงใหม่ฝนตกเยอะขึ้นกว่าเดิม ผศ.ดร.ชาคริต อธิบายว่า ด้วยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบ้านเราอยู่ในภูมิอากาศเขตร้อน และถูกขนาบข้างด้วยมหาสมุทร ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดฝนเนื่องมาจากได้รับอิทธิพลของมหาสมุทร
“ส่วนใหญ่ฝนที่เกิดขึ้นในภาคเหนือมาจากมรสุมเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะหอบเอาความชื้นต่างๆ จากมหาสมุทรมาด้วย อีกส่วนคือฝนที่เกิดจากพายหมุนเขตร้อน เช่น ไต้ฝุ่น แต่ที่มีผลกระทบกับบ้านเรา บางครั้งเป็นพายุโซนร้อน พายุดีเปรสชั่นหรือส่วนใหญ่จะลดความรุนแรงกลายเป็นความกดอากาศต่ำ แต่ก็มักจะมาด้วยฝนจากพายุหมุนเขตร้อน”
ผศ.ดร.ชาคริต เสริมอต่อว่า “Global Warming ทำให้โลกอุ่นขึ้น ซึ่งอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นจะไปเพิ่มระดับการระเหยของน้ำ ทั้งน้ำในมหาสมุทรและผิวดิน รวมไปถึงทำให้พื้นดินอุ่นขึ้น ยิ่งบางช่วงที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้เริ่มแอคทีฟหรือพัดพาเอาความชื้นเข้ามา ก็จะเหมือนกับพื้นดินที่ร้อนแล้วมีความชื้นเข้ามา ความชื้นนั้นจะยกตัวขึ้น แล้วก่อตัวเป็นเมฆในแนวตั้งที่มีศักยภาพในการเกิดเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง พายุฤดูร้อน ฝนจากพายุฤดูร้อนจึงดูเหมือนจะมากขึ้น เราจึงอาจเจอภัยจากพายุฤดูร้อนมากขึ้นภายใต้ global warming”
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ละอองฝุ่นเล็กๆ ในภาคเหนือ จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดฝนได้เช่นเดียวกัน โดย ผศ.ดร.ชาคริต ไขความกระจ่างต่อเรื่องนี้ว่า “เพราะฝุ่นบางชนิดมีศักยภาพที่จะไปลดการเกิดเมฆ ที่จะก่อตัวเป็นฝน แต่ฝุ่นบางชนิดก็ไปเสริมศักยภาพการก่อตัวของเมฆ ส่งผลให้เกิดฝนมากกว่าปกติ”
ภาพ : Flickr
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ชาคริต ได้ย้ำเตือนถึงแนวทางป้องกันการเกิดน้ำท่วมไว้อย่างน่าสนใจว่า “ปัจจุบันพื้นที่ในภาคเหนือถูกใช้เป็นพื้นที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว ส่งผลให้เวลาเกิดฝนตก น้ำจะไหลลงมาอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น จึงควรมีการฟื้นฟูป่า เช่น เพิ่มพื้นที่ป่า อนุรักษ์ดิน ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความรุนแรงของน้ำที่ไหลงมาอย่างรวดเร็วได้ อีกส่วนหนึ่งคือ การจัดการน้ำในระดับลุ่มน้ำ เขื่อน ไปจนถึงการบริหารจัดการห้วยหนองคลองบึง เพื่อให้น้ำไหลสะดวก รวมไปถึงระบบเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งเป็นงานที่เราทำอยู่ โดยจะมีทั้งการเตือนภัยระยะใกล้ ระยะกลาง รายฤดู กึ่งฤดู หรือแม้แต่วางแผนผลกระทบที่เกิดจากการแปรปรวนของภูมิอากาศในเวลาไม่กี่เดือนหรือรายปี”
เดิมทีเดียว เชียงใหม่เคยประสบภัยน้ำท่วมใหญ่มานานหลายปี นับตั้งแต่ปี 2548 ที่น้ำปิงในตัวเมืองเชียงใหม่ท่วมสูงแตะที่ระดับ 4.85 เมตร ต่อมาในปี 2554 น้ำปิงท่วมสูงขึ้นจากเดิม วัดระดับได้ที่ 4.94 เมตร ต่อมาในปี 2565 ระดับน้ำปิงสูงสุดที่ 4.65 เมตร และล่าสุดปี 2567 ที่เชียงใหม่ลบสถิติเดิม โดยเกิดน้ำท่วม 2 ครั้งติดต่อกันในเวลาไม่ถึง 1 เดือน วัดระดับแม่น้ำปิงที่จุดสูงสุด 4.93 และ 5.20 เมตรในเดือนกันยาย และต้นเดือนตุลาคมตามลำดับ
ธนวัฒน์ แปงใจ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และการจัดการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวอ่างแก้วว่า “น้ำท่วมเชียงใหม่มักจะเป็นลักษณะน้ำหลาก มาเร็วไปเร็ว เป็นน้ำป่า ไม่ใช่น้ำท่วมขังเหมือนภาคกลาง
“ด้วยลักษณะภูมิประเทศของเชียงใหม่มีข้อดีตรงที่มีประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ทิศตะวันออกมีประเทศเวียดนามตอนบน จีน ลาว คอยบังอยู่ ฝั่งตะวันตกจะมีประเทศเมียนมาร์ เมื่อเกิดพายุเข้า จึงช่วยบังพายุ ทำให้พายุลดระดับความรุนแรงลงไปบ้างกว่าจะมาถึงเรา
“ที่สำคัญ ปัจจุบันผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อม ทั้งในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เช่น ตอหม้อสะพาน ขุดลอกคูคลอง และการกำจัดวัชพืชเพื่อให้ทางน้ำระบายได้ดีขึ้น รวมไปถึงการเผชิญเหตุให้รวดเร็วและทั่วถึง ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้และการรับรู้ให้ประชาชนในเชียงใหม่ เรียนรู้ที่จะอยู่กับพายุเมื่อภัยมา
“นอกจากนี้ ในตัวเมืองเชียงใหม่เรามี 11 จุดเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม ปัจจุบันเราได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว 7 จุด ส่วนที่เหลืออีก 4 จุด จะเป็นเรื่องของโครงสร้างในการออกแบบเพื่อให้การระบายน้ำดีขึ้น"
อย่างไรก็ตาม ธนวัฒน์ อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมในปัจจุบัน ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงกว่าในอดีตไว้ว่า “ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะลักษณะของสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป เมื่อก่อนฝนตกทั่วถึงกันหมด แต่เดี๋ยวนี้ตกเป็นจุดๆ หย่อมๆ ซึ่งแต่ละจุดที่ฝนตก ความเสียหายอาจจะเยอะในจุดเดียวเพราะไม่ได้ตกทั่วถึงเหมือนทุกครั้ง ซึ่งอาจเป็นผลพวงมาจากภาวะโลกร้อน” เขากล่าวทิ้งท้าย
อ้างอิง
https://www.naewna.com/local/833884
https://www.wwf.or.th/?330230/wwftdri
https://www.thaipbs.or.th/news/content/345511
เรื่อง : วีณา บารมี
ภาพ : Envato
ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำหนดให้ ‘โรคเอดส์’ เป็นวาระแห่งชาติ และมีเป้าหมายที่จะยุติปัญหาเอดส์ภายในปี พศ. 2573 โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อเอดส์เพิ่มขึ้นอีกในปีดังกล่าว
‘การขายบริการทางเพศ’ ขึ้นชื่อว่าเป็นอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ปัจจุบันคนที่ประกอบอาชีพนี้ ส่วนหนึ่งทำงานอย่างถูกกฎหมาย แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีคนอีกมากมายในอาชีพนี้ที่ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
"เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" กลยุทธ์สำคัญในการดึงดูดลูกค้าหน้าใหม่ในปี 2024 เนื่องจากปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน จึงหันมาสนับสนุนสินค้า และบริการที่สามารถช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเลือกพักผ่อนในสถานที่รักษ์โลก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม