“ตั้งแต่เกิดมาจนอายุสิบเก้า ความรู้เรื่องการเอาตัวรอดของกูเรียกได้ว่ามีน้อยนิดยิ่งกว่าหางอึ่ง ถ้าไม่ใช่คนอยากรู้อยากเห็น ถ้าไม่ศึกษาเอาเอง กูว่ากูคงเอาตัวรอดในประเทศนี้ได้ยากแน่”
กัญญาวีร์ มีชื่อ หรือน้ำผึ้ง นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อนสนิทของฉันตั้งแต่มัธยมบ่นอุบอิบ ในตอนที่เราสองคนนั่งคุยกันอยู่หน้าหอพักหลังกลับมาจากร้านอาหารในละแวกนั้น ฉันทำหน้างุนงงเพราะสงสัยว่าทำไมอยู่ ๆ เพื่อนสนิทถึงได้พูดเรื่องนี้ขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย
“เห็นข่าวไฟไหม้ผับที่ชลบุรีมั้ย โคตรน่ากลัวเลย” น้ำผึ้งหยิบมือถือขึ้นมาเข้าแอปพลิเคชันทวิตเตอร์แล้วเปิดภาพเหตุการณ์ไฟไหม้ผับให้ฉันดู เมื่อได้ลองเข้าไปส่องแฮชแท็กที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในตอนนั้น ทำให้ฉันรู้สึกหดหู่อย่างบอกไม่ถูก เพราะไปสะดุดตาเข้ากับทวีตหนึ่งที่มีเนื้อหาประมาณว่า “ถ้าไม่เข้ามาอ่านแท็กนี้ คงไม่รู้ว่าเวลาโดนไฟคลอกเขาห้ามวิ่ง ให้ลงไปนอนกลิ้งกับพื้นแทน” ประโยคสั้น ๆ ประโยคนี้ ทำให้ฉันย้อนกลับมาคิดว่า จริง ๆ แล้วเรื่องพวกนี้ฉันก็รู้มาจากในอินเทอร์เน็ตเหมือนกันนี่นา
พี่สาวของฉันเคยตั้งคำถามกับฉันเล่น ๆ ว่า ถ้าเกิดวันหนึ่งตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าไฟกำลังไหม้ที่หอพัก สิ่งแรกที่จะทำคืออะไร ฉันตอบพี่ไปว่า “ก็วิ่งเข้าลิฟต์แล้วรีบลงจากหอสิ” คำตอบของฉันทำให้โดนพี่ด่ากลับมาว่า “ถ้างั้นมึงคงได้นอนตายอยู่ในลิฟต์นั่นแหละ ไฟไหม้เขาห้ามใช้ลิฟต์ ต้องวิ่งหาบันได้หนีไฟ”
เออ จริงด้วยแฮะ มันคือคอมมอนเซนส์เลยนี่หว่า แต่ทำไมฉันนึกไม่ถึงกัน
ทักษะที่คนไทยยังขาดความรู้
คำว่า ‘การเอาตัวรอด’ ตามนิยามโดยทั่วไปนั้น หมายถึง การอยู่รอดทางกายภาพ หรือการต่อสู้เพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายล้างทางกายภาพ แต่ในบทสนทนาของฉันและเพื่อนสนิทนั้น คำว่าการเอาตัวรอดไม่ได้หมายถึงการเอาตัวรอดแบบทั่วไป เพราะพวกเรากำลังพูดถึง ‘การเอาตัวรอดจากสถานการณ์ฉุกเฉิน’ นั่นเอง
‘เหตุฉุกเฉิน’ หรือ ‘ภาวะฉุกเฉิน’ ตามคำนิยามโดยทั่วไป หมายถึงเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ทันทีทันใด ทำให้เกิดการเสียชีวิต บาดเจ็บ และเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน เพราะฉะนั้นการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงหมายถึงการรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น อุบัติเหตุทางการจราจร อุบัติเหตุจากการจมน้ำ และ อุบัติเหตุจากอัคคีภัย
เมื่อพูดถึงอัคคีภัย ทำให้ฉันนึกถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ที่จังหวัดนครปฐมซึ่งเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2565 ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งหมดสี่คน ประกอบด้วยแม่ ลูกสองคนและหลานอีกหนึ่งคน โดยญาติของผู้เสียชีวิตบอกว่าผู้เป็นแม่ได้ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำคลุมตัวเอาไว้และหนีไปซ่อนตัวในห้องน้ำ เพราะไม่รู้ว่าจะต้องรับมือกับเหตุการณ์นั้นอย่างไร
ไม่ใช่แค่เหตุการณ์นี้เท่านั้น แต่หลายครั้งเวลาที่อ่านข่าวเกี่ยวกับเหตุไฟไหม้อีกหลาย ๆ ส่วนใหญ่คนที่อยู่ในเหตุการณ์มักจะไม่รู้วิธีการรับมือ จนนำไปสู่การสูญเสียในที่สุด พอลองคิดดูดี ๆ แล้ว ไม่ได้มีแค่ฉันกับเพื่อนเท่านั้นที่มีปัญหาเรื่องทักษะการเอาตัวรอด แต่ยังมีอีกหลายคนที่ต้องประสบพบเจอกับปัญหานี้เช่นเดียวกัน เพราะเหตุนี้จึงทำให้ฉันกลับมาตั้งคำถามว่า ปัญหาเหล่านี้มันมีที่มาจากอะไร ?
เพราะการศึกษาไม่เคยสอนการ ‘เอาตัวรอด’
“ครูคิดว่าส่วนใหญ่แล้วปัญหาพวกนี้มันมาจากระบบการศึกษาแหละ สังเกตไหมว่าไม่มีวิชาไหนเลยที่จะสอนเรื่องการเอาตัวรอดอย่างจริง ๆ จัง ๆ บางวิชาอาจจะมีสอนบ้าง แต่ก็ไม่ได้เน้นย้ำขนาดนั้นอยู่ดี” อดีตคุณครูสอนวิชาภาษาไทยในชั้นมัธยมศึกษาของฉัน พูดถึงที่มาของปัญหาเรื่องการขาดความรู้เกี่ยวกับการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ฉุกเฉินของคนไทย
พอลองคิดตามที่ครูของฉันพูด มันก็ถูกอย่างที่ครูว่าจริง ๆ เพราะตอนที่ฉันเรียนหนังสือ ก็ไม่เคยได้เรียนเรื่องพวกนี้อย่างจริงจังเลยสักครั้ง ทุกวันนี้ยังจำเบอร์ฉุกเฉินต่าง ๆ ไม่ได้เลยด้วยซ้ำ หากวันไหนหลงป่าแล้วโทรศัพท์มือถือไม่มีสัญญาณ ก็คงได้นอนเน่าตายอย่างอนาถอยู่ในป่าคนเดียวแน่ ๆ
เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการปลูกฝังความเป็นระเบียบให้กับคนในสังคม เด็กญี่ปุ่นทุกคนจะได้รับการสอนให้ยกมือขณะข้ามทางม้าลาย เนื่องจากส่วนสูงของเด็กไม่ได้สูงมากนัก ซึ่งอาจทำให้คนขับรถมองไม่เห็นว่าเด็กเดินพ้นไปแล้วหรือยัง บางโรงเรียนในญี่ปุ่นยังให้เด็กสวมหมวกสีเหลืองหรือสีแดง เพื่อให้ผู้ขับขี่มองเห็นเด็กจากระยะไกลแล้วชะลอความเร็วลงได้ทัน การปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ให้กับเด็ก เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นมีจำนวนเด็กและเยาวชนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ
ถ้าส่วนหนึ่งของการที่คนไทยไม่มีความรู้มากพอในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินมีที่มาจากระบบการศึกษา แบบนี้หมายความว่าระบบการศึกษาของไทยในทุกวันนี้มีประสิทธิภาพไม่มากพอหรือเปล่า ? แล้วคิดว่าจำเป็นจะต้องปรับปรุงไหม?
“สำหรับครูแล้วการศึกษาของประเทศไทยเป็นสิ่งที่ควรปรับนะ” ครูตอบด้วยน้ำเสียงจริงจัง “ไม่ใช่ว่าการศึกษาไทยไม่มีประสิทธิภาพ เพียงแค่มันสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้มากกว่านี้ คือครูมองว่าการศึกษาไทยในตอนนี้มันมีประสิทธิภาพมากแล้วสำหรับยุคก่อน ๆ บางวิชาก็ดีอยู่แล้ว แต่บางวิชาก็ควรปรับให้เข้ากับยุคสมัย”
‘ลูกเสือ’ วิชาที่ควรสอนเรื่องการเอาตัวรอด
เมื่อลองหันกลับมามองที่บ้านเรา ว่าพอจะมีการปลูกฝังเรื่องเอาตัวรอดจากสถานการณ์ฉุกเฉินบ้างไหม ทำให้ฉันพบว่า จริงๆ แล้วก็มีวิชาที่สอนเรื่องราวพวกนี้อยู่บ้าง นั่นก็คือ ‘วิชาลูกเสือ’ หรือ ‘การลูกเสือ’ ของไทยนั่นเอง
การลูกเสือตามฉบับสากลนั้นมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก เพราะเป็นองค์กรที่สอนเรื่องการเอาตัวรอด การช่วยเหลือผู้อื่น และเป็นการเรียนรู้โดยได้ฝึกทักษะการเอาตัวรอดจริง ๆ แต่วิชาลูกเสือสามัญของไทยนั้นกลับไม่ได้มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตมากขนาดนั้น แม้ว่าจะมีการนำหลักสูตรการลูกเสือของสากลมาปรับใช้ก็ตาม
เพราะวิชาลูกเสือของไทย รวมไปถึงวิชาอื่น ๆ อย่างเช่น เนตรนารี ยุวกาชาด บำเพ็ญประโยชน์ ดูจะเน้นการสอนเรื่องการทำความเคารพในรูปแบบต่าง ๆ การเดินสวนสนาม และการแต่งเครื่องแบบให้ถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาก็จะเป็นการร้องเพลง ที่ฉันเองก็ยังคงไม่เข้าใจจุดประสงค์ของการร้องเพลงสวัสดียุวกาชาดจนถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม วิชานี้มีการสอนผูกเงื่อนในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นเนื้อหาส่วนที่เป็นประโยชน์มากที่สุดแล้วของวิชาเหล่านี้เลยก็ว่าได้
การที่เนื้อหาของวิชาลูกเสือไทยจะวน ๆ ซ้ำ ๆ อยู่อย่างนี้ หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นวิชาที่เรียนแล้วสนุก แต่กับบางคน วิชาลูกเสือก็ไม่ต่างอะไรกับคุก โดยเฉพาะถ้าหากเจอกับครูผู้สอนวิชานี้ที่เอาแต่เน้นเรื่องเครื่องแบบมากจนเกินไป เมื่อมีการทำผิดระเบียบก็มักจะมีบทลงโทษ ทำให้เด็กบางคนรู้สึกแย่ทุกครั้งเวลาที่จะต้องเรียนวิชาเหล่านี้ ซึ่งฉันเองก็เคยเป็นหนึ่งในนั้นเหมือนกัน
“ทำไมเราจะต้องมานั่งเครียดเรื่องการซื้อชุดยุวกาชาดที่ราคาแพงหูฉี่ ?”
“ทำไมเราต้องมานั่งวุ่นวายหาเครื่องหมาย หมวก และผ้าพันคอให้ครบจนทำให้ไปเรียนสาย ?”
“ทำไมเราจะต้องมาทนยืนตากแดดพร้อมกับใส่ชุดหนา ๆ ในตอนบ่ายของประเทศที่อากาศร้อนอบอ้าวขนาดนี้ด้วย ?”
“สุดท้ายแล้ววิชานี้มันมีประโยชน์ยังไง ?”
นี่คือสิ่งที่ฉันเคยคิด และเชื่อว่าคงจะมีอีกหลายต่อหลายคนที่คิดเหมือนกัน
เมื่อฟังคำบ่นเรื่องการเรียนวิชายุวกาชาดกับสิ่งที่ฉันเจอมาในวิชานี้ ครูของฉันหัวเราะออกมาเบา ๆ พร้อมกับบอกว่าเข้าใจความรู้สึกนี้ เพราะตัวครูเองก็เคยผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาเหมือนกัน จนถึงวันที่ครูต้องมาสอนวิชาพวกนี้เองบ้าง ยิ่งทำให้ครูรู้สึกว่าถึงเวลาแล้วจริงๆ ที่การศึกษาไทยควรจะต้องได้รับการปรับปรุง
“ถ้าปรับเนื้อหาของวิชาลูกเสือ เปลี่ยนจากเน้นเรื่องเครื่องแต่งกายและการทำความเคารพ ไปเน้นการสอนเรื่องการเอาชีวิตรอดจากสถานการณ์ฉุกเฉิน ครูว่าวิชานี้มันก็เวิร์คนะ ไม่ต้องถึงกับถอดวิชานี้ออกก็ได้ แค่ปรับเนื้อหาให้มันเอามาใช้ได้จริงบ้างก็พอ แล้วก็เปลี่ยนจากวิชาที่ต้องบังคับเรียนเป็นวิชาเลือกเสรีก็ได้ แบบนี้นอกจากจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของเด็กลงแล้ว ยังลดคาใช้จ่ายของรัฐในเรื่องงบประมาณได้ด้วย” ครูกล่าวทิ้งท้ายเกี่ยวกับประเด็นเรื่องวิชาลูกเสือไว้เพียงเท่านั้น
การที่คนไทยไม่มีความรู้มากพอในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่งผลให้ทุกวันนี้มีเด็กและเยาวชนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากที่สุด แม้ว่าประเทศไทยจะมีวิชาที่สอนการเอาตัวรอดอย่างวิชาลูกเสือก็ตาม ปัญหาดังกล่าวควรแก้ไขที่ต้นเหตุ นั่นก็คือการสอนให้คนไทยมีทักษะการรับมือที่ดีต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเริ่มจากการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมไปทั้งการปลูกฝังความรู้เกี่ยวกับการเอาตัวรอดให้กับเด็กตั้งแต่เนิ่น ๆ
ปัจจุบันนี้คนไทยหลายกลุ่มหลายองค์กร เช่น กลุ่ม Newground เสนอให้ยกเลิกการบังคับเรียนวิชาลูกเสือ และเปลี่ยนเป็นให้เลือกเรียนเองได้อย่างสมัครใจ นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้บรรจุวิชาการเอาตัวรอดเบื้องต้นเข้าไปเป็นวิชาภาคบังคับอีกด้วย ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่าภาครัฐจะปรับปรุงและแก้ปัญหาเหล่านี้กันอย่างไร
สุดท้ายนี้ฉันก็เพียงแต่หวังว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ต่อระบบการศึกษาของไทยที่ยังล้าหลังในหลาย ๆ ด้านบ้างสักนิด… แค่เพียงสักนิดก็ดีมากแล้ว…
ข้อมูลอ้างอิง
เรื่อง : สุทธิกานต์ วงศ์ไชย
ภาพ : Envato
บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
‘ที๊งคูเท๊ะ’ แปลว่า ต้นน้ำ และ ‘ฌี้’ แปลว่า ดี ‘ที๊งคูเท๊ะฌี้’ จึงแปลว่า ต้นน้ำดี แผนที่สีเหลืองเปลือกไข่โดดเด่นดึงดูดขึ้นมาในสายตา เป็นรูปภาพแรกที่พบเจอเมื่อเราค้นหาแผนที่ “หมู่บ้านกะเบอะดิน” เพื่อศึกษาระยะทางก่อนลงพื้นที่ทำสารคดีส่งในกระบวนวิชาการเขียนสารคดีสร้างสรรค์ที่ฉันกำลังศึกษาอย่างทรหดอยู่
ปัจจุบันหนึ่งในกระแสที่หลายธุรกิจให้ความสนใจและพยายามที่จะมุ่งไป ก็คือแนวทางของ ‘Green Business’ หรือ ‘ธุรกิจสีเขียว’ ซึ่งก็คือการที่บริษัทหรือองค์กรภาคธุรกิจมีความตั้งใจดำเนินธุรกิจของตนโดยไม่ปรารถนาให้เกิดผลกระทบเชิงลบใด ๆ ต่อสภาพแวดล้อมโลก ไม่ว่าจะเป็นต่อท้องถิ่น ชุมชน หรือสังคมรอบข้าง รวมไปถึงการไม่สร้างผลกระทบร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีแนวคิด Zero Waste หรือแนวคิดที่ต้องการลดปริมาณขยะให้เหลือน้อยที่สุดหรือไม่สร้างขยะเลย
ยามที่คนเราต้องเผชิญกับปัญหาอันเกิดจากความไม่แน่นอนของการมีชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเงินอันเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีพนั้นหายากขึ้นทุกวัน ไหนจะผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ความทุกข์ ความเหนื่อยล้าจากสารพัดปัญหา ต่อให้ใจสู้แค่ไหนก็คงต้องมีวันที่รู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจกันได้ทุกคน