ปัจจุบันหนึ่งในกระแสที่หลายธุรกิจให้ความสนใจและพยายามที่จะมุ่งไป ก็คือแนวทางของ ‘Green Business’ หรือ ‘ธุรกิจสีเขียว’ ซึ่งก็คือการที่บริษัทหรือองค์กรภาคธุรกิจมีความตั้งใจดำเนินธุรกิจของตนโดยไม่ปรารถนาให้เกิดผลกระทบเชิงลบใด ๆ ต่อสภาพแวดล้อมโลก ไม่ว่าจะเป็นต่อท้องถิ่น ชุมชน หรือสังคมรอบข้าง รวมไปถึงการไม่สร้างผลกระทบร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีแนวคิด Zero Waste หรือแนวคิดที่ต้องการลดปริมาณขยะให้เหลือน้อยที่สุดหรือไม่สร้างขยะเลย
แน่นอนว่าการที่ธุรกิจใด ๆ ก็ตามจะไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่แนวคิดในการทำธุรกิจ การวางตำแหน่งของธุรกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมาย การค้นหากลุ่มลูกค้าที่ต้องการสินค้าหรือบริการตามแนวทาง Green Business ไปจนถึงการจัดการต่าง ๆ เกี่ยวกับการผลิตสินค้าหรือการบริการ เพื่อให้สอดคล้องไปกับแนวทางการรักษาสภาพแวดล้อม
‘นวดแผนไทย’ คือธุรกิจบริการที่นำภูมิปัญญาด้านสุขภาพมาตอบสนองความต้องการของผู้คนที่ต้องการความผ่อนคลายและการมีสุขภาพที่ดี ภายใต้องค์ความรู้ที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน และใช้องค์ประกอบต่าง ๆ ที่มีที่มาจากธรรมชาติเป็นหลัก ในบทความนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักกับสองธุรกิจนวดแผนไทย กับแนวทางการดำเนินธุรกิจของทั้งสององค์กร เพื่อให้ธุรกิจตอบโจทย์ Green Business ได้อย่างแท้จริง
ทำธุรกิจด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ
‘ศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน’ เป็นศูนย์งานบริการการแพทย์ทางเลือก ซึ่งก็คืองานด้านแพทย์ไทยและแพทย์แผนจีน ในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เน้นทั้งงานบริการ งานวิจัย และการเรียนการสอน แม้องค์กรดังกล่าวจะไม่ใช่องค์กรแสวงผลกำไร แต่ก็สามารถให้บริการโดยคิดค่าบริการได้ตามความเหมาะสมเฉกเช่นธุรกิจทั่วไป
ขณะที่ ‘Nimman House’ ร้านนวดแผนไทยบนถนนนิมมานเหมินท์ จังหวัดเชียงใหม่ มีจุดเริ่มต้นจากการที่ผู้ประกอบการมีความชื่นชอบการนวดแผนไทยโดยส่วนตัว และสังเกตว่าคนรอบข้างก็ชอบการนวด จึงลองเปิดธุรกิจดังกล่าว และประสบความสำเร็จได้อย่างที่ตั้งใจ
ในส่วนของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ภายในร้าน ศูนย์การแพทย์แผนไทยจะสั่งผลิตและรับผลิตภัณฑ์จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีมาตรฐานในการผลิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่การรับวัตถุดิบ คัดสรรวัตถุดิบ ตรวจสารตกค้างและสารปนเปื้อน การแปรรูปและส่งออกผลิตภัณฑ์มาที่ศูนย์ อย่างเช่นน้ำมันนวด ใช้สารสกัดจากไพลหรือสารสกัดจากดอกคำฝอยที่มีสรรพคุณหลากหลายและปลอดภัย โดยส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ทั้งหมดมีที่มาจากธรรมชาติ แต่อาจจะมีการเติมสารบางชนิดที่ทำให้ผลิตภัณฑ์คงตัว ไม่บูด ไม่เน่าเสีย น้ำมันไม่แยกชั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและทำให้ใช้งานได้นานขึ้น
ด้านผลิตภัณฑ์ที่ Nimman House ใช้ มีวัตถุดิบเป็นสมุนไพรที่รับมาจากกลุ่มแม่บ้านในจังหวัดพะเยา และน้ำมันมะพร้าวจากอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยสมุนไพรส่วนใหญ่เป็นออร์แกนิคเกือบ 100% เพราะมาจากกรรมวิธีพื้นบ้าน เป็นพืชที่ชาวบ้านปลูกกันเองทั้งหมด ไม่ผ่านโรงงานอุตสาหกรรมหรือการแปรรูปใด ๆ
ใช้ผลิตภัณฑ์ให้คุ้มค่า – จัดการให้เหมาะสม
หนึ่งในแนวทางของการทำธุรกิจแบบ Green Business คือการพยายามลดปริมาณขยะให้เหลือน้อยที่สุด หรือไม่สร้างขยะเลย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ขยะที่เกิดขึ้นนั้นมีหลากหลายประเภท และต้องเลือกวิธีกำจัดให้เหมาะสมที่สุดสำหรับขยะแต่ละชนิด นอกเหนือไปจากการพยายามลดการสร้างขยะขึ้นมา
ในธุรกิจนวดแผนไทย หนึ่งในวัสดุสิ้นเปลืองที่ใช่ในการนวดแผนไทยก็คือ ‘ลูกประคบสมุนไพร’ ซึ่งประกอบด้วยสมุนไพรหลากหลายชนิด นั่นหมายถึงการเกิดขยะตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตลูกประคบจากเศษสมุนไพรที่เหลือจากการนำไปผลิตลูกประคบ และขยะจากลูกประคบที่ถูกใช้งานแล้ว
ที่ศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานใช้ลูกประคบ 2 แบบ คือแบบสมุนไพรสดและแบบสมุนไพรแห้ง มีปริมาณการใช้ลูกประคบสมุนไพรอยู่ที่ 30 ลูกต่อสัปดาห์ หรือ 120 ลูกต่อเดือน โดยจะใช้ซ้ำประมาณลูกละ 1-3 วัน ด้าน Nimman House มีปริมาณการใช้ลูกประคบสมุนไพรอยู่ที่ 25-30 ลูกต่อสัปดาห์ หรือ 110-120 ลูกต่อเดือน โดยที่ร้านใช้เฉพาะลูกประคบแบบแห้ง และจะใช้ซ้ำแค่ลูกละ 2 ครั้ง
สำหรับลูกประคบที่นำกลับมาใช้ซ้ำ ศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานจะใช้วิธีการนำไปผึ่งลมให้แห้งเป็นการลดความชื้น แล้วในวันถัดมาก็สำมารถใช้งานซ้ำได้ และเมื่อใช้งานจนหมดประสิทธิภาพแล้ว ก็จะแยกส่วนของสมุนไพร เปลือกไม้ ใบไม้ ทิ้งใส่ต้นไม้ให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ หรือนำกลับไปทำปุ๋ยชีวภาพ เพื่อใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด
ขณะที่ Nimman House ก็นำลูกประคบกลับมาใช้ซ้ำเช่นกัน โดยจะทำให้เย็นลงหลังจากการใช้งานก่อน แล้วจึงนำไปใส่ในตู้แช่แข็ง เพราะถ้าหากไม่แช่แข็งไว้ ลูกประคบก็จะเกิดเชื้อราและใช้งานไม่ได้ในวันถัดไป ส่วนลูกประคบที่ไม่ใช้แล้วก็จะถูกแยกส่วนและทิ้งให้เหมาะสม โดยสมุนไพรจะถูกทิ้งเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ ด้านพลาสติกก็จะแยกออกมาเป็นขยะพลาสติก เป็นต้น
นำ ‘นวดแผนไทย’ ก้าวสู่ Green Business
การศึกษาค้นคว้าและรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากในการประกอบธุรกิจต่าง ๆ เพราะตลาดทั่วโลกจะคอยนำเสนอข้อมูลใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ผู้ประกอบการจึงต้องคอยติดตามข้อมูลใหม่ ๆ และศึกษาให้เข้าใจ เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจของตนเองให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งการปรับตัวเพิ่อก้าวสู่การเป็น Green Business ก็คือหนึ่งในเป้าหมายที่หลาย ๆ ธุรกิจอยากจะก้าวไปให้ถึง
“ส่วนตัวคิดว่าเราปรับตัวให้เข้ากับ Green Business ได้แน่นอนครับ อย่างโมเดลธุรกิจนวดแผนไทย มันก็ค่อนข้างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว เพราะเป็นธุรกิจที่เน้นงานบริการ ไม่มีกระบวนการผลิตมาเกี่ยวข้อง พอไม่มีกระบวนการผลิตก็จะเกิดของเสียน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย” พทป.ณพรรษกรณ์ คงภาษี หรือคุณหมออ้น ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน พูดถึงการพัฒนาการดำเนินงานของศูนย์ให้สอดคล้องกับแนวทาง Green Business
“ศูนย์ของเราใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากจะมีคุณภาพแล้วยังช่วยลดต้นทุนการผลิตลงไปได้อีกเยอะด้วย อีกอย่างเรายังสามารถเอาองค์ประกอบของ Green Business มาเพิ่มมูลค่าของการบริการเข้าไปได้ เพราะการที่ลูกค้าจะเลือกใช้บริการที่ไหนสักแห่ง ถ้ามันอยู่ในกระแสหรืออยู่ในเทรนด์ หน่วยบริการนั้นก็มักจะถูกเลือกเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งเรามองกระแสนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราก็อยากรักษาสิ่งแวดล้อมไว้ให้ได้มากที่สุด และผู้บริโภคก็น่าจะให้ความสนใจและให้การสนับสนุนเรามากขึ้น”
ด้าน คุณกฤช ตามนคร ผู้จัดการร้าน Nimman House กล่าวถึงการปรับรูปแบบธุรกิจนวดแผนไทยให้สอดคล้องกับแนวทาง Green Business ว่า “คิดว่าปรับได้อยู่แล้วนะครับ จริง ๆ ที่ร้านก็ทำแบบนี้มาตลอดอยู่แล้ว เราคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มันเป็นสมุนไพรจริง ๆ มาตั้งแต่เริ่ม ซึ่งเกิดประโยชน์ทั้งกับตัวลูกค้าเองแล้วก็สิ่งแวดล้อมด้วย อีกอย่างพวกผลิตภัณฑ์หรือสินค้าธรรมชาติพวกนี้เขามีคุณภาพในตัวอยู่แล้ว และราคาไม่แพง ได้ทั้งของดีและราคาดีที่เราเลือกมาเองกับมือ มันก็ต้องดีต่อธุรกิจของร้านแน่นอน
“นอกจากนี้ที่ร้านของเราแทบจะไม่ใช้อะไรที่เกี่ยวกับพลาสติกเลย น่าจะมีแค่หมวกอาบน้ำที่เป็นพลาสติก ส่วนเรื่องความสะอาด การกรองอากาศ ร้านของเราก็ใส่ใจมาก ๆ เพื่อให้บริการที่สะอาด ปลอดภัย และน่าประทับใจให้กับลูกค้า เราอาจจะตามกระแสไม่ทัน ไม่รู้ว่ามันมีชื่อเรียกว่าอะไร แต่แนวทางของร้านเราเป็นแบบนี้มาตลอดอยู่แล้วครับ”
ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
จากเรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าธุรกิจนวดแผนไทยนั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากทีเดียว หลายคนอาจจะคาดไม่ถึงว่านวดแผนไทยมีทั้งการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ไม่ทำลายระบบนิเวศทั้งของท้องถิ่น ชุมชน และประเทศ และยังสร้างประโยชน์อีกมากมาย
การเป็นธุรกิจบริการที่มีบริการที่ดีและใส่ใจจากพนักงาน บวกกับวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการที่หมั่นศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ติดตามความเป็นไปในโลกธุรกิจ และนำวิธีการต่าง ๆ ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์มาปรับใช้กับธุรกิจ เมื่อรวมกับการใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด มีต้นทุนการผลิตที่อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมจากการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีในท้องถิ่น และมีกระบวนการที่จะสร้างขยะเพิ่มขึ้นบนโลกให้น้อยที่สุด
ด้วยการวางแผนเป็นอย่างดีเช่นนี้ การที่นวดแผนไทยจะก้าวไปสู่การเป็น Green Business และนำเสนอต่อผู้บริโภคว่าเป็นธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในทางธุรกิจแล้ว ผู้ประกอบการเจ้าอื่น ๆ ยังสามารถนำแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้ เพื่อให้ธุรกิจสอดคล้องกับ Green Business ซึ่งจะเป็นทั้งโอกาสและแรงหนุนที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโต และสร้างความประทับใจและการจดจำต่อลูกค้าที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง
เรื่อง : รัญชนา เกียรติอำไพ
ภาพ : Envato
บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“หมุดหลักนี้ แสดงถึงเจตจำนงที่จะพิทักษ์ปกป้องผืนป่าแห่งนี้ไว้ มิให้ผู้ใดทำลาย และเพื่อแสดงถึงจิตวิญญาณ อัตลักษณ์ของชนเผ่า คงไว้ซึ่งวิถีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์สืบไป” ข้อความสีแดงปรากฏบนหมุดหลักหนึ่งท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ที่ถูกผูกด้วยผ้าสีส้ม เพื่อแสดงถึงเจตจำนงในการรักษาพื้นที่ป่า 39 ไร่ 54 ตารางวา อันเต็มไปด้วย ‘จิตวิญญาณ’ ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ ที่ได้เชื่อมโยงวิถีชีวิตของพวกเขาให้เข้ากับธรรมชาติ โดยผูกโยงศาสนา และความเชื่อดั้งเดิมเอาไว้ในผืนป่าแห่งนี้
‘สัตว์จรจัด’ ในมุมมองของคุณคืออะไร ? เมื่อพูดถึงสัตว์จรจัด เราจะนึกถึงสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ไม่มีบ้าน ไม่มีอาหาร ไม่ได้รับความอบอุ่น ไม่ได้รับความดูแล ต้องหากินด้วยตัวเอง ส่วนอีกพวกหนึ่งคือสัตว์ที่อาศัยอยู่ในชุมชน เป็นสัตว์จรจัดเช่นกัน เพียงแต่สัตว์เหล่านั้นมีคนให้อาหาร หรือถ้าถ้าโชคดีเจอคนมีกำลังทรัพย์ ก็จะถูกพาไปฉีดวัคซีน ให้ยากำจัดหมัด ซึ่งสิ่งที่ว่ามานี้ตรงข้ามกับสัตว์เลี้ยงที่มีเจ้าของดูแล
ย้อนกลับไปในอดีต มนุษย์ยุคแรกไม่ได้แบ่งเครื่องแต่งกายออกตามเพศสภาพ ใช้เพียงหนังสัตว์ ฟาง หรือใบไม้ มาทำเป็นลักษณะคล้ายกระโปรง เพื่อเพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกายและป้องกันสัตว์ต่าง ๆ เท่านั้น ต่อมาเมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักการทอผ้า เสื้อผ้าจึงถูกปรับเปลี่ยนให้มีอารยะมากขึ้น แต่ก็ยังคงอยู่ในรูปทรงกระโปรงแบบเดิม เช่นเดียวกับวัฒนธรรมกรีก โรมัน ที่ผู้ชายยังคงใส่กระโปรง โดยจะใส่เป็นผ้าคลุมหลวม ๆ ยาวตลอดตัว ไม่ได้แบ่งข้างเป็นขาซ้ายขาขวา ง่ายต่อการตัดเย็บและสะดวกสบายในการใช้ชีวิต