ในยุคที่โลกไม่เคยหยุดเดิน และเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เด็กจบใหม่จำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญกับความจริงอันโหดร้ายของตลาดแรงงาน ไม่ใช่แค่การหางานยากขึ้น แต่ยังพบว่าหลายองค์กร โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ยังเลี่ยงการรับเด็กจบใหม่หรือ Gen Z เข้าทำงาน
ข้อมูลของ McKinsey&Company ระบุว่า Generation Z หรือ Gen Z คือ กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปีค.ศ. 1996 – 2010 ท้้งนี้ จากสถิติของ ResumeBuilder เผยว่า ผู้จัดการกว่า 74% ยืนยันว่าลูกน้อง Gen Z ทำงานด้วยยากกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดยในจำนวนนี้มี 49% ที่พบปัญหาระหว่างการทำงานกับผู้ใต้บังคับบัญชา สอดคล้องกับผลสำรวจที่เผยแพร่ในรายงานชุด Gen Z Worker Report ปี 2024 ว่า ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรกว่า 45% มองว่า Gen Z ทำงานด้วยยากที่สุด รวมไปถึงผลการศึกษาของ Hult International Business School ร่วมกับ Workplace Intelligence พบว่าผู้บริหาร 89% มีแนวโน้มที่จะเลี่ยงการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ ซึ่ง 60% มองว่าเด็กจบใหม่ยังขาดประสบการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริง 51% ไม่มีทักษะการทำงานที่เหมาะสม 55% ขาดทักษะการทำงานเป็นทีม และอีก 50% มองว่ามีมารยาททางธุรกิจที่ไม่ดีนัก
นอกจากนี้ เราได้หยิบยกเอามุมมองที่น่าสนใจจากผลสำรวจครั้งนี้มาฝากไว้ให้อ่าน ดังนี้
หนึ่งในเหตุผลหลักที่นายจ้างจำนวนมากลังเลที่จะจ้างเด็กจบใหม่ คือการ “ขาดประสบการณ์ทำงาน” เด็กจบใหม่ส่วนใหญ่มักยังไม่พร้อมทำงานในทันที ต้องใช้เวลาฝึกอย่างน้อย 3-6 เดือน ซึ่งส่งผลให้เกิดต้นทุนแฝงในการเทรนงาน รวมถึง productivity ที่ลดลงของพนักงานรุ่นพี่ที่ต้องทำหน้าที่พี่เลี้ยง
อีกข้อสังเกตที่นายจ้างหลายรายพูดถึงคือ เด็ก Gen Z มักมีลักษณะการทำงานแบบ “โซโล่” ขาดความสามารถในการทำงานร่วมกับทีม และเมื่อได้รับคำติหรือฟีดแบค มักแสดงท่าทีไม่พอใจ หรือถึงขั้นลาออกไปเลย ซึ่งกลายเป็นพลังลบที่กระทบต่อทั้งทีม
เกินครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็น 51% ของนายจ้างรู้สึกว่าเด็ก Gen Z ขาดทักษะการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลือกใช้ถ้อยคำหรือท่าทีที่เหมาะสมในบริบทขององค์กร โดยเฉพาะในสังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับความอ่อนน้อมถ่อมตนและลำดับอาวุโส
ในยุคที่นายจ้างสามารถจ้างฟรีแลนซ์ได้โดยไม่ต้องแบกรับต้นทุนถาวร เช่น ประกันสังคม โบนัส หรือเวลาทำงานที่เข้มงวด การจ้างฟรีแลนซ์จึงกลายเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ากว่า และสามารถวัดผลได้ชัดเจนกว่า
เด็กจบใหม่บางคนมีความมั่นใจสูง เชื่อว่าตนเองมีศักยภาพ แต่กลับไม่สามารถส่งมอบผลงานที่ตรงตามคาดหวังของนายจ้างได้ นำไปสู่ความไม่สมดุลระหว่างสิ่งที่ต้องการกับสิ่งที่สามารถทำได้จริง
จากมุมของนายจ้างที่มีเหตุผลของตัวเองในการคัดเลือกคนที่จะเข้าทำงาน แต่หากมองย้อนกลับ เด็ก Gen Z เองก็ต้องเจอกับบริบททางสังคมและเศรษฐกิจที่ยากลำบากเช่นเดียวกัน อาทิ
กลุ่ม Gen Z ที่เพิ่งจบใหม่ในช่วงนี้ คือกลุ่มที่เรียนมหาวิทยาลัยในช่วงโควิด-19 เป็นเวลาหลายปี การเรียนออนไลน์ที่ขาดปฏิสัมพันธ์ ทำให้ทักษะอย่างการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และการบริหารโปรเจค ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่
เมื่อองค์กรจำนวนมากปิดรับนักศึกษาฝึกงาน ทำให้เด็กจบใหม่จำนวนมากไม่เคยสัมผัสการทำงานจริง ส่งผลให้ขาดความเข้าใจระบบองค์กร และยังขาด soft skill ที่จำเป็นในการทำงานจริง
ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ทำให้หลายองค์กรชะลอการจ้างงานหรือปรับลดขนาดองค์กร ขณะเดียวกันจำนวนบัณฑิตจบใหม่ ยังเพิ่มขึ้นทุกปี จนในที่สุดทำให้เกิดภาวะ "Snowball" ของการว่างงาน ยิ่งทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้นไปอีก
เทคโนโลยี AI กำลังแทนที่แรงงานระดับต้นจำนวนมาก โดยเฉพาะตำแหน่งที่เด็กจบใหม่มักเริ่มต้น หากไม่สามารถใช้หรือประยุกต์ AI ได้ ก็มีแนวโน้มจะถูก “เฟดออก” จากตลาดแรงงานได้ไม่ยาก
ในยุคที่โอกาสน้อยลง ทุกคนต้องปรับตัว โดยเฉพาะ Gen Z ซึ่งแม้จะเจอความท้าทายมากมาย แต่ก็มีข้อได้เปรียบด้านเทคโนโลยี หากสามารถเรียนรู้ AI และทักษะใหม่ ๆ ได้รวดเร็ว ก็สามารถเปลี่ยนตัวเองเป็น “Rare Item” ที่องค์กรต้องการได้ รวมไปถึงการสร้างทักษะใหม่ ๆ เพิ่มพูนประสบการณ์ให้กับตัวเอง แม้ช่วงที่ว่างงาน ก็ควรหมั่นเติมความรู้ให้ตัวเองอยู่ตลอดเวลา อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปเปล่า ๆ ด้านนายจ้างเองก็ต้องปรับตัวเช่นเดียวกัน เช่น พยายามทำความเข้าใจโลกของคนรุ่นใหม่ เปิดใจรับวิธีคิดและวิธีทำงานที่เปลี่ยนไป เพราะต้องยอมรับว่า ในบางด้าน คน Gen z ก็สามารถจัดการได้ดีและรวดเร็วกว่า
อย่าลืมว่าตลาดแรงงานทุกวันนี้ไม่ใช่พื้นที่ของคำว่า “ฉันเป็นแบบนี้” แต่คือการแข่งขันที่เข้มข้น และโลกจะยอมรับ “คนที่พร้อมปรับตัวและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง” เท่านั้น !
อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1183994
https://www.youtube.com/watch?app=desktop&v=MWB_263wzKQ
คุณชอบดูซีรีส์ไหม ? แล้วมีซีรีส์ไหนเป็นเรื่องโปรดกันบ้าง ?
หากกล่าวถึงจังหวัดเชียงใหม่ หลาย ๆ คนคงนึกถึงเมืองแห่งวัฒนธรรมอันเก่าแก่ ไม่ว่าจะเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตกาล หรือโบราณสถานที่ยังคงอยู่ บ่งบอกถึงวิถีชีวิตของ ‘คนเมือง’ ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ ว่ามีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง ถือเป็นหลักฐานที่แสดงออกมาได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมที่สุด
‘การขายบริการทางเพศ’ ขึ้นชื่อว่าเป็นอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ปัจจุบันคนที่ประกอบอาชีพนี้ ส่วนหนึ่งทำงานอย่างถูกกฎหมาย แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีคนอีกมากมายในอาชีพนี้ที่ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม